คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนกรกฎาคม 2568)
สวัสดีครับเพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน
ถ้าโลกนี้ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีความพิการ ไม่มีคนไร้บ้าน ไม่มีความยากจน คงเป็นโลกในอุดมคติของใครหลายคน
แต่ในความเป็นจริงที่เราอยู่ในระบบทุนนิยม ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นได้จากปัจจัยทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เพศ วัย ฐานะ อาชีพ สุขภาพ พื้นที่อาศัยความแตกต่างที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นต้นเหตุแห่ง “ความไม่เท่าเทียม”
ความพิการส่วนใหญ่มักจะเลือกไม่ได้ คือมีมาตั้งแต่เกิด หรือเกิดอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยที่ไม่อาจคาดเดาได้ ทำให้เกิดความแตกต่าง ไม่เท่าเทียม มีคนบอกว่า คุณจะไม่มีทางเข้าใจคนพิการได้อย่างแท้จริง ตราบใดที่คุณไม่ได้เป็นคนพิการเอง หรือผู้ต้องขังที่อาจจะหลงเดินทางผิดทั้งที่ตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจเพราะชีวิตเกิดมาก็เลือกไม่ได้แล้ว
แม้กระทั่ง กลุ่มชาติพันธุ์ ที่เพียงเพราะเขาเป็นชนกลุ่มน้อย ถ้าเขาเป็นชนกลุ่มใหญ่ วัฒนธรรมและสิ่งที่เขาเป็นก็อาจจะกำหนดเส้นทางของประเทศเช่นกัน กลุ่มประชากรข้ามชาติ ที่อาจจะไม่มีทางเลือก หรือทางรอดในประเทศของเขา ต้องเข้ามาหาชีวิตที่ดีกว่า
กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ที่ในช่วงหนึ่งในอดีตถูกตีตรา ทำให้ไม่กล้าแม้แต่จะแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของเขาเอง จนกลายเป็นความทุกข์ในกรงขังแห่งจิตใจ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่แม้เป็นคนไทย แต่ก็อาจจะเข้าไม่ถึงสิทธิ์ บางอย่างที่ควรได้รับ กลุ่มมุสลิมที่มีความแตกต่างทางด้านสุขภาวะและพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ และกลุ่มผู้สูงอายุที่สักวันหนึ่งทุกคนจะต้องได้เป็น
ความหลากหลายของกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ทำให้ สสส. ต้องทำงานสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียม มุ่งสู่การมีสุขภาวะดีในที่สุด ความแตกต่างนั้นสวยงาม ทั้งด้านความคิด ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม แต่ความแตกต่างทางร่างกาย และจิตใจบางส่วน ก็นำไปสู่ “ความทุกข์” ได้เช่นกัน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สสส. ได้จัดประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 3 (Voice of the voiceless 3rd) ภายใต้แนวคิด “รวมพลังหุ้นส่วนสุขภาวะ ก้าวไปด้วยกันอย่างเท่าเทียม” ที่มี สสส. เป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมประสานพลังจากภาคีประชากรกลุ่มเฉพาะกว่า 4,000 ชีวิต มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการปฏิบัติงานจริง ซึ่งได้ประมวลผลจากการประชุมมานำเสนอในวารสารจดหมายข่าวสร้างสุขฉบับนี้
ในสังคมแห่งอุดมการณ์และอุดมคตินั้น ความเชื่อหนึ่งที่สำคัญคือ “สังคมที่เอื้ออาทรสร้างขึ้นได้” สร้างจากความเข้าใจในทุกกลุ่ม ทุกคน ทุกความคิดจนกลายเป็นทุกอณูของการกระทำ เป็นการกระทำที่ยอมรับถึงความแตกต่าง ดูแลถึงความไม่เท่าเทียม ส่งเสริมในความหลากหลาย จนนำไปสู่ความสุขในทุกอณูของสังคมได้
เมื่อครั้งผมจบแพทย์ใหม่ ๆ อาจารย์ นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ปูชนียบุคคลของจังหวัดน่าน และวงการสาธารณสุขไทย เคยตั้งคำถามว่า รู้ไหมว่า “ความเท่าเทียมกับความยุติธรรมต่างกันอย่างไร” ก่อนที่จะเฉลยว่า “ความยุติธรรมนั้น ไม่ใช่การเท่ากัน แต่คือการให้สิ่งที่เหมือนกันกับคนที่เหมือนกัน ให้สิ่งที่ต่างกันกับคนที่ต่างกัน ดังนั้นถ้าหมอจะดูแลคนยากจน หรือคนพิการให้ดีกว่าปกตินั้น ถือว่าเป็นความยุติธรรม และเป็นสิ่งที่หมอควรทำ”
นั่นเป็นคำตอบของการดูแลประชากรกลุ่มเฉพาะของ สสส. และพวกเราชาว สสส.ยังคงต้องมุ่งมั่นทำสิ่งที่เราทำอยู่ต่อไป เพื่อทำให้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน ให้ได้ยินไปทั่ว สร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อประชากรกลุ่มเฉพาะในทุกกลุ่ม สนับสนุนการรวมกลุ่มของประชากรกลุ่มเฉพาะให้สามารถมีส่วนร่วมทั้งในเชิงนโยบาย การจัดกิจกรรม และขับเคลื่อนที่นำไปสู่ “สังคมแห่งอุดมคติ” และ “สังคมแห่งความเอื้ออาทร” ต่อไปครับ