คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนสิงหาคม 2565)

สวัสดีครับ เพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน

       จากประเพณีดั้งเดิมของชาวพุทธในประเทศไทย ที่เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วยังลังเลกันว่า จะนำกลับมาเป็นจุดเริ่มของการรณรงค์ทางสุขภาพเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งได้ไหม?

        จนทุกวันนี้ “เข้าพรรษา” นอกจากเป็นวันสำคัญทางศาสนา ยังนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการรณรงค์ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นวันงดสุราแห่งชาติที่ประกาศโดยรัฐบาล

                         จากเมื่อปี 2546 ที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมผลักดัน ให้เกิดการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” เป็นครั้งแรกขึ้น บทเรียนต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งล้มเหลวและสำเร็จ หลายคำถามเริ่มมีคำตอบ และสร้างคำถามใหม่ ๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ และหน่อรากที่ฝังอยู่ในดินของสังคมไทยหน่อนี้ ก็ได้เติบโตงอกงามขึ้นมาได้จริง ๆ

                         3 เดือนในระหว่างเข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาที่ยาวพอประมาณ ที่จะใช้ในการกระตุ้นความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าด้วยแรงจูงใจในมิติของศาสนา หรือจะเป็นสุขภาพที่ดีขึ้น เวลาและความรักที่มีให้กับครอบครัวมากขึ้น อุบัติเหตุที่ลดลง หรืออีกหลากหลายสิ่งจูงใจอื่น

                         เม็ดเงินที่งานวิจัยปีที่ผ่านมา พบว่าครัวเรือนสามารถประหยัดได้ช่วงเข้าพรรษาจำนวน 1,432 บาทต่อครัวเรือน หรือ 3,397 ล้านบาท แม้ว่าจะสูงไม่น้อย แต่ก็ยังน้อยกว่าความสูญเสียจากผลกระทบหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคม

                         ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจากค่ารักษาพยาบาล การเสียชีวิตหรือพิการก่อนวัยอันควร เสียผลิตภาพการทำงาน มีมูลค่าสูงถึง 8.6 หมื่นล้านบาท หรือ 0.56% ของ GDP ของประเทศ

                         ด้วยเหตุนี้จึงทำให้งาน สสส. และภาคีเครือข่าย ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จึงยังไม่จบ และ “งดเหล้าเข้าพรรษา” เป็นเพียงหนึ่งในจุดเริ่มต้น ของกระบวนการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและสิ่งแวดล้อมของคนในสังคม ให้หันมาตระหนักถึงปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้น

                         การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2565 ได้มุ่งเน้นไปที่ พ่อ แม่ ฮีโร่หลักประจำครอบครัว โดยพบจากบทเรียนภาคปฏิบัติว่า ความรักเป็นสิ่งสำคัญกระตุกให้นักดื่มฉุกคิด ลดการดื่มลง “ซูเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์” จึงเป็นการสื่อสารเชิงบวกเพื่อปลุกพลังฮีโร่ในตัวพ่อแม่ ให้ก้าวมาเป็นต้นแบบของลูก พร้อมกันนั้น ก็ถ่ายเทพลังความรักจากลูกไปที่พ่อแม่ เพื่อให้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้สำเร็จ

                         ในปีนี้ สสส. ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค และกรมการปกครอง เพื่อชวนคนไทยลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปพร้อม ๆ กับ บุหรี่ อบายมุข โดยอาศัยกลไกที่นำโดย “นายอำเภอ” ทั้ง 878 อำเภอ

                         “งดเหล้าเข้าพรรษา” ยังได้รุกไปในชุมชน สร้างคนต้นแบบที่มี “หัวใจหิน” “หัวใจเหล็ก” จนถึง “หัวใจเพชร” ที่สามารถเลิกดื่มต่อเนื่องไปถึงช่วงออกพรรษาที่กระจายตัวอยู่ใน 193 ชุมชนต้นแบบทั่วประเทศ พัฒนาจากคนต้นแบบเลิกดื่ม สู่การเป็นนักรณรงค์ ขยายแนวคิด ช่วยเหลือเพื่อนร่วมชุมชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างตัวอย่างขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ

                         บวกกับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่เดินหน้าสานต่อในโครงการ “โพธิสัตว์น้อย” เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ร่วมเชิญชวนให้ พ่อแม่ เลิกดื่มเพื่อตัวเองและครอบครัว

                         พลังความรักของพ่อแม่นั้น ไม่มีเงื่อนไขและยิ่งใหญ่อยู่เสมอ และก็ไม่มีใครที่เป็นต้นแบบของลูกได้ดีเท่าพ่อแม่

                         งานสร้างเสริมสุขภาพมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อมมากมายนัก เราคงยังต้องเรียนรู้เหตุปัจจัยเหล่านั้น และเงื่อนไขของการดำรงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกันอย่างเป็นพลวัตต่อเนื่องไป

Shares:
QR Code :
QR Code