คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนธันวาคม 2567)
สวัสดีครับเพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน
เข้าสู่ช่วงสิ้นปีกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ เป็นห้วงเวลาแห่งการได้ทบทวนตัวเองเพื่อมองไปข้างหน้าว่า ปีใหม่เรามีความฝัน ความท้าทายอะไรที่จะเดินต่อไป
เมื่อผมลองทบทวนความฝัน ยังคงแจ่มชัดเมื่อครั้งเรียนจบแพทย์มาแม้ผมจะมีความสุขมากเมื่อรักษาผู้ป่วยหาย แต่ผมมีความสุขมากกว่าเมื่อได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน ชวนคนเลิกเหล้า เลิกบุหรี่สำเร็จ นั่นเป็นเหตุให้ผมหักเห มาเรียนด้านเวชศาสตร์ป้องกันและทำงานสร้างเสริมสุขภาพ
จนวันหนึ่งก็ได้มาทำงานที่ สสส. ช่วงปีที่ผ่านมา ผมมีความสุขมากในการได้เข้าไปสัมผัสผู้คน ภาคีเครือข่ายที่รักงานสร้างเสริมสุขภาพ อยากทำสิ่งดีงามให้เพื่อผู้อื่น มีจิตอาสา อยากเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน ทำให้รู้สึกเหมือนกับเราเข้ามาในชมรมที่มีแต่คนที่คิดเหมือนเรา
แม้สำหรับภาคีแล้ว งานจะยากและมีอุปสรรคมาก แต่ผมเห็นพลัง และแววตาของภาคีเครือข่ายที่มีความสุขกับการได้ค้นพบคุณค่าของตัวเองที่มีต่อสังคม ชุมชน ผมรู้สึกดีใจที่ได้ไปสัมผัสและเรียนรู้จากภาคีเครือข่ายทุกคน ปีที่ผ่านมาจึงเป็นปีแห่งการเรียนรู้ของผม และในฐานะผู้จัดการกองทุน สสส.
ผมเชื่อว่า การสานพลัง คือการนำจุดแข็งของเราไปปิดจุดอ่อนของอีกฝ่าย และนำจุดแข็งของอีกฝ่ายมาปิดจุดอ่อนของเรา จุดแข็งของผมคือนักระบาดวิทยา ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์และจัดการข้อมูล และการมีประสบการณ์การทำงานกับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อสม. นายก อบต. นายกเทศมนตรีมาตลอดช่วงเวลาทำงานที่ผ่านมา
ในปีหน้านี้ผมจึงคิดว่ายุทธศาสตร์ในการทำงานในฐานะของผู้จัดการคือ DOPA-Driven Strategy ซึ่งย่อมาจาก Data-Driven, Outcome-Driven, Partners-Driven และ AI-Driven คือการใช้ข้อมูลมาขับเคลื่อนสังคม ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยทำงานแบบมุ่งผลลัพธ์ และใช้ AI มาช่วยในการทำงาน
ผมอยากจะชวนให้ภาคีทุกท่านและเจ้าหน้าที่ สสส. จากทุกสำนักเปลี่ยนมาเป็นนักขาย (Saleman) ผู้ที่นำนวัตกรรม ที่เป็นโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยมีชุมชนเป็นฐาน (Community based intervention) ที่วัดผลลัพธ์ได้นำไปขายใหกับ กองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งมีนายก อบต. หรือนายกเทศมนตรีเป็นประธาน
โดยใช้ข้อมูลเพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพ ที่บอกว่าตำบลนั้น ๆ มีการตายหรือความเจ็บป่วยจากโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรม 7 + 1 เป็นอันดับเท่าไหร่ของประเทศไทย เช่น ถ้าชุมชนและท้องถิ่นรู้ว่า ตำบลของเขามีการตายจากโรคตับแข็งเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ผมมั่นใจว่าเขาน่าจะอยากเปลี่ยนแปลงและใช้พลังของท้องถิ่นและชุมชนในการทำให้คนในชุมชน ลด ละ เลิกเหล้าไปได้
คนแต่ละคนนั้นจิตใจอ่อนแอ อาจ จะแพ้ใจตนเองได้ แต่ถ้ารวมพลังกันเราจะสร้างสิ่งแวดล้อม และค่านิยมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึง ภาคีเครือข่ายคงต้องช่วยกันป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับในช่วงเทศกาล 7 วันอันตราย ผมเชื่อว่าพลังของครอบครัว ชุมชน จะช่วยทำให้คนที่รักในครอบครัว และชุมชนปลอดภัยได้ ผมคิดว่าทุกครอบครัว และทุกชุมชนรู้ว่า ใครในครอบครัวของเรา เสี่ยงต่อการไปดื่มแล้วขับ และไม่สวมหมวกนิรภัยในช่วงปีใหม่ ถ้าเพียงขับรถไปรับเขากลับ หรือชุมชนเตือนไม่ให้เขาออกไปขับขี่ก็จะลดการตายจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ไปได้มาก
ในช่วงปีใหม่นี้ผมขอส่งกำลังใจให้กับทุกท่าน ซึ่งเป็นขุนพลสุขภาวะ ได้มีพลังกาย พลังใจ พลังปัญญา ในการร่วมรบในสงครามเพื่อสุขภาวะที่ดีต่อไป เราจะร่วมรบและมีความสุขกับการค้นพบว่า เรามีคุณค่าต่อโลกใบนี้ไปด้วยกันครับ