25 พ.ย. วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

รวมพลังสังคม รณรงค์หนึ่งเสียง หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง

25 พ.ย. วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง 

 

             ผู้หญิง ถือเป็นเพศที่อ่อนแอ ด้วยเหตุนี้หรือเปล่า??? ที่ทำให้ ผู้หญิง อย่างเราๆ มักถูกล่อลวงหรือล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำรุนแรงอย่างหนึ่ง รวมทั้งการปล่อยคลิปฉาวที่ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นเรื่องฮิตของดารา นักร้อง ที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักจะไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเพิกเฉยจากผู้พบเห็น เพราะเข้าใจว่า นั่นเป็นปัญหาภายในครอบครัว ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว!!

 

             แต่ที่น่าตกใจ!! คือเหยื่อที่ถูกกระทำส่วนใหญ่ ไม่ได้ดำเนินการเอาเรื่องกับผู้กระทำผิด ซึ่งเหตุผลอาจมีมากมายไม่ว่าจะหวาดกลัวการถูกทำร้ายซ้ำ เกรงสังคมจะตราหน้าให้อับอาย กลัวพ่อแม่ดุด่า เป็นต้น

 

             เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทุกวันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้เป็น วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ขึ้น ด้วยเหตุนี้ หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยูนิเฟม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อนหญิง ตลอดจนเครือข่ายยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง จึงได้รวมพลัง สร้างค่านิยม ไม่เพิกเฉย ต่อความรุนแรง พร้อมดำเนินโครงการรณรงค์ หนึ่งเสียง หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติในการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง (UNIFEM) ในโครงการ Say NO to Violence Against Women  

 

             ซึ่งหากจะพูดถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงจริงๆ แล้วนั้น หมายถึง การกระทำใดๆ ที่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว

 

             โดยรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในสังคมบ้านเรานั้นมีหลากหลายรูปแบบ ล้วนแต่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้หญิง ซึ่งความหลากหลายความรุนแรงต่อผู้หญิง…ที่สังคมไม่ควรควรมองข้าม แบ่งเป็น  

 

             ความรุนแรงทางเพศ หลายคนนึกถึงแต่การถูกข่มขืน ซึ่งจริงๆ แล้ว มีตั้งแต่การแทะโลมด้วยสายตา และวาจา การอนาจาร ลวนลาม คุกคามทางเพศ การข่มขืน (รวมถึงการข่มขืนภรรยา) รุมโทรม การข่มขืนฆ่า ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ 

 

             ความรุนแรงในครอบครัว ล่วงละเมิด บังคับ ขู่เข็ญ ทำร้าย โดยบุคคลในครอบครัว อาจจะใช้กำลังทุบตีภรรยา ไม่รับผิดชอบครอบครัว นอกใจภรรยา ขายลูกสาว ด่าทอ ดูถูกเหยีดหยาม การปิดกั้นทางสังคมไม่ให้ติดต่อเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือสังคมภายนอก เป็นต้น

 

             การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่รับผิดชอบของฝ่ายชายหรือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการไม่สามารถต่อรองเรื่องการคุมกำเนิดกับคู่ครองได้

 

             การติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ติดเชื้อเอดส์จากสามี หรือจากการถูกละเมิดทางเพศ

 

             การนำเสนอผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เป็นการมองว่าผู้หญิงเป็นวัตถุที่สามารถ ดึงดูดได้ในสื่อลามกต่างๆ การโฆษณาสินค้า รวมทั้งการแอบถ่ายคลิปฉาวต่างๆ

 

             และการล่อลวงมาบังคับค้าประเวณี หรือใช้แรงงานเยี่ยงทาส

 

             โดยนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง ให้ข้อมูลว่า จากสถิติการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลประจำจังหวัด 297 แห่ง ในปี พ.ศ. 2550 มีเด็ก สตรีและผู้สูงอายุที่ถูกกระทำทารุณเข้ารับบริการถึง 19,068 ราย เป็นผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 8,172 ราย และสถิติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยพบความรุนแรงที่เกิดต่อผู้หญิง เป็นการกระทำของใกล้ชิด แฟน และสามี มากกว่าคนไม่รู้จักกันหรือคนแปลกหน้าซึ่งมีจำนวนน้อยมาก

 

             ในส่วนของมูลนิธิเพื่อนหญิงได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงเฉลี่ยปีละ 1,500 รายและพบว่าปี 2551 น่าจะเพิ่มถึง 1,600 ราย โดย 80% เป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวและ 20% เป็นคดีข่มขืนและภัยทางเพศ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรเป็นปัญที่ต้องรีบเร่งดำเนิการแก้ไขโดยด่วน

 

             นอกจากนี้ยังพบว่า จากสถิติของกองวิจัยและวางแผนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนเมษายน กันยายน พ.ศ. 2551 พบว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงที่มีการแจ้งความดำเนินคดีการทำร้ายร่างกาย และข่มขืนกระทำชำเราสูงถึง 18,191 ราย และ 4,359 ราย ตามลำดับ อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจ และรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนหญิง พบว่าหลายกรณีของความรุนแรงต่อผู้หญิงมีปัจจัยกระตุ้นก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และการพนัน

 

             ด้านการสำรวจขององค์การอนามัยโลก พบว่าผู้หญิงร้อยละ 10-50 มีประสบการณ์ในช่วงชีวิตที่ถูกสามีหรือคู่รักของตนทำร้ายร่างกาย และผู้หญิงประมาณร้อยละ 12-25 เคยถูกสามีหรือคู่รักพยายามขืนใจหรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ที่สำคัญ คือ ความรุนแรงที่ผู้หญิงได้รับจากคู่หรือสามีหรือผู้ชายอื่น เป็นสาเหตุสำคัญ 1 ใน 10 ของสาเหตุการตายของผู้หญิงอายุระหว่าง 15-44 ปี” 

 

              จากข้อมูลเบื้องต้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าความรุนแรงที่ผู้หญิงประสบจากคู่ของตนนั้นเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญและเป็นประเด็นที่แสดงถึงการผู้หญิงถูกคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัย 

 

             นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ และนี่!! คงจะถึงเวลาแล้ว ที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เพราะคุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ด้วยการหยุดเพิกเฉย หากพบเห็นการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งวิธีการช่วยเหลือนั้นอาจมีหลายรูปแบบ เช่น หากพบเห็นการกระทำที่รุนแรงต่อผู้หญิงควรรีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจ หรืออาจเข้าไปช่วยเหลือหากทำได้

 

             ในส่วนของครอบครัว ควรปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมว่าชายหญิงนั้นเท่าเทียมกัน ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน หยุดการทำร้ายคนในครอบครัว รวมถึงการช่วยกันสอดส่องดูแลเฝ้าระวังการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ภายในชุมชน สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และที่สำคัญช่วยกันสร้างชุมชนที่ปลอดจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดอื่นๆ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาความรุนแรงต่างๆ

 

             และที่สำคัญทุกคนสามารถร่วมลงชื่อเพื่อแสดงจุดยืนในการสนับสนุน ให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และร่วมรณรงค์ให้วาระนี้ เป็นวาระเร่งด่วนของประชาคมโลกได้ที่ www.novaw.or.th โดยกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเฟม (UNIFEM) จะมอบรายชื่อของทุกคน ที่ร่วมลงนาม ให้กับ นาย บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นการแสดงถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของคนไทย ในการร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีต่อไป

 

             สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ของสังคม อย่างเราๆ แล้ววันนี้คุณพร้อมที่จะเป็นหนึ่งเสียง เพื่อหยุดความรุนแรง ต่อผู้หญิง…แล้วหรือยัง!!!   

 

 

 

 

ที่มา : ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.or.th

 

 

Update : 19-11-51

อัพเดทเนื้อหาโดยณัฐภัทร ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code