เลือกสุขภาพดี ต้องดูที่ ‘ฉลาก’
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์โครงการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย
ชีวิตรีบเร่งในแต่ละวัน ทำให้ คนเรามีชีวิตสำเร็จรูปมากขึ้น และกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง ไม่ได้ ที่เราต้องเลือกพึ่งพาอาหารนอกบ้าน และอาหารสำเร็จรูปในห้างร้าน
ผลลัพธ์ของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง เริ่มสะท้อนผลลบให้เห็นผ่านสุขภาพคนไทย ที่กำลังเพิ่มสถิติโรคอ้วน (Obesity) และโรคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง และภาวะไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
"โรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน" กำลังเป็นภัยคุกคามในประชากรไทย อ้างอิงถึงข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี พ.ศ.2556 รายงานว่าคนไทยที่ป่วยเป็นโรคอ้วนมีจำนวนสูงถึง 4 ล้านคน (ร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด) ซึ่งเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ปัญหาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นปัญหาที่ก่อความเดือดร้อน กับผู้ป่วยและครอบครัวโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องที่มีผลกระทบ ต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาจนำมาสู่ความล่มสลายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องจ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคต่างๆ ดังกล่าวในปี พ.ศ. 2552 สูงถึง 5,580.8 ล้านบาท โดยคิดเป็น ร้อยละ 2.01 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 300,000 กว่าราย โดยร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตทั้งหมดมาจากพฤติกรรมการบริโภคหวานจัด มันจัด และเค็มจัด รวมถึงการทำกิจกรรมทางกายและการบริโภคผักและ ผลไม้ที่น้อยเกินไป
เป็นเรื่องทุกคนรู้ต่างรู้ดีว่า "หวาน มัน เค็ม" คือต้นเหตุที่นำมาสู่ โรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลาย แต่ยิ่งรู้แค่ไหน ก็ไม่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในทางพฤติกรรม
ดังนั้น หนึ่งในมาตรการเชิงป้องกันฉบับจานด่วน ที่สำนักงานอาหารและยา (อย.) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส. ผลักดันเพื่อลด อุบัติการณ์ของโรคดังกล่าวไม่ให้ลุกลามรวดเร็วไปกว่านี้ คือการจัดทำโครงการ Healthier Choice โดยการขอความร่วมมือกับภาคเอกชนผู้ผลิตในการลดปริมาณ เกลือ น้ำตาลและไขมัน ในอาหารสำเร็จรูป กำลังเป็นกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยง ของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ ภาครัฐเห็นพ้องว่าต้องดำเนินการอย่าง มีประสิทธิภาพและให้เกิดประสิทธิผล โดยเร็ว
ปัจจุบันประเทศไทย กำหนดปริมาณการบริโภคหวานให้ปลอดภัย คือ ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (1 ช้อนชา = 4 กรัม) การบริโภคเกลือ ไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา ต่อวัน (โซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) และ ควรบริโภคน้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 30 กรัม
แต่เพราะวิถีชีวิตแบบคนเมืองสมัยใหม่ ที่ปัจจุบันมีการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งกลุ่มอาหารดังกล่าวอุดมไปด้วยอาหาร ที่มีพลังงานและไขมันสูง โซเดียมสูง น้ำตาลสูง กรดไขมันอิ่มตัวสูง
Healthier Logo หรือ "ฉลาก ทางเลือกสุขภาพ" จึงเป็นเครื่องมือ ของการสื่อสารสุขภาพตัวใหม่ ที่มีความสำคัญมาก
"หลักการสำคัญของโครงการคือเราต้องการให้คนได้รับประทานอาหารสุขภาพได้ง่ายๆ เนื่องจากอาหารที่มีอยู่ไม่ได้โภชนาการมากเท่าที่ควร" ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เล่าถึงที่มาที่ไปโครงการ โดยอธิบายว่า อย่างน้อย Healthier Choice ก็เป็นโอกาสและ "ทางเลือก" สำหรับคนไทย ที่จะเริ่มหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินอยู่ ให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการมากขึ้น หากมีตัวเลือก ของอาหารซึ่งมีคุณค่าเหมาะสมสำหรับผู้บริโภคสามารถให้สามารถเข้าถึงและซื้อหาได้ง่ายขึ้น
"ที่ผ่านมาในการรณรงค์ลดหวาน มันเค็ม มาตรการแรกที่ สสส.ขับเคลื่อน คือการให้ความรู้ประชาชน ซึ่งทุกคนรู้ แต่ยังไม่ปฏิบัติก็มีอยู่มาก เราจึงต้อง อาศัยการจัดการในฝั่งภาคธุรกิจ เช่น การขึ้นภาษีน้ำตาลที่เราจะเริ่มใช้ และการพัฒนา ฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Healthier Choice Logo) เพื่อรณรงค์ให้ผู้ผลิตลดปริมาณเกลือและน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ต่างๆ
นอกเหนือจากการขับเคลื่อนกรณีการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนด (ภาษีน้ำหวาน) ที่กำลังมีผลบังคับใช้ ส่วน Healthier Choice ถือเป็นทางเลือก โดยมาตรฐานนี้หมายถึงหากผลิตภัณฑ์ไหนปรับสูตรลดน้ำตาลเกลือ ไขมันลดลงตามมาตรฐานที่เราระบุก็สามารถใช้โลโก้นี้ได้ อย่างน้อยคนที่บริโภคหรือ ซื้อไปกินจะบริโภคหวานมันเค็มลงน้อยลง"
ดร.นพ. ไพโรจน์ เล่าต่อว่า ส่วนใหญ่ ผู้ผลิตเป็นผู้หยิบเลือกบางสูตรมาลดปริมาณ เกลือน้ำตาลลงโดยสมัครใจ เพราะในแง่การตลาดเอง การออกผลิตภัณฑ์ที่สุขภาพดีขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อเขาด้านภาพลักษณ์ธุรกิจ กับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แต่ในช่วงแรกจำเป็นต้องเลือกหยิบผลิตภัณฑ์บางตัวมานำร่องก่อน
"เป้าหมายที่เราต้องการ คืออยากปรับปริมาณความหวาน มัน เค็มลดลงหมดทุกผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายชั้นวางสินค้า แต่เรายังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ ซึ่งฉลากนี้คือเป็นมาตรการแรกที่พยายามประนีประนอมกับผู้ผลิตขึ้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนได้จริง แต่ยังไม่ได้ดีที่สุด เพราะนั่นหมายถึงต้องปรับสูตรทั้งหมด"
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้การรับรองผลิตภัณฑ์ มีอยู่ 8 กลุ่มอาหาร คือ (1) อาหารมื้อหลัก (2) เครื่องดื่ม (น้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและ น้ำหวานกลิ่นรสต่างๆ น้ำนมถั่วเหลือง น้ำธัญพืช ชาปรุงรส กาแฟปรุงรส เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก และมอลต์สกัด) (3) เครื่องปรุงรส (4) ผลิตภัณฑ์นม (5) อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มและโจ๊กที่ปรุงแต่ง และแกงจืดและซุปชนิดเข้มข้น ชนิดก้อน ชนิดผงหรือชนิดแห้ง) (6) ขนมขบเคี้ยว (7) ไอศกรีม (8) ไขมันและน้ำมัน (มาการีน มายองเนส น้ำสลัดและแซนด์วิชสเปรด) โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมากที่สุดคือกลุ่มเครื่องดื่ม มี 458 ผลิตภัณฑ์ รองลงมาคือผลิตภัณฑ์นม 48 ผลิตภัณฑ์
"ในอนาคตเราพยายามผลักดันให้สินค้าบางประเภท อย่างเช่น บริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสามสี่รายใหญ่ในตลาดก็ให้ความร่วมมือ ที่จะรณรงค์ให้ทุกซองทุกสูตรลดปริมาณเกลือ นี่คือเป้าหมายที่เราอยากให้เกิดมากที่สุด ซึ่งเกณฑ์พวกนี้จะออกมาเรื่อยๆ เราให้สถาบันโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้กำหนดเกณฑ์การพิจารณา และมีการรับรองมาตรฐานโดย อย. ซึ่งตอนนี้มีผู้ผลิตได้ยื่นขอโลโก้ดังกล่าวมาแล้วจำนวน 642 ผลิตภัณฑ์ (สถิติถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2561) ซึ่งจะเริ่มเห็นบ้างแล้วว่า มีหลายโฆษณาที่เริ่มมีโลโก้นี้ ให้เห็น"
อย่างไรก็ดี ดร.นพ.ไพโรจน์เอ่ยว่า แนวทางนี้ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ สสส. นำมาใช้ แต่ในงานด้านรณรงค์การลดบริโภคหวาน มัน เค็ม จำเป็นต้องอาศัยหลายมาตรการร่วมกัน ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การสื่อสารกับผู้บริโภค ไปจนถึงการขอความร่วมมือกับผู้ผลิต
"ตอนนี้เราพยายามให้ผู้บริโภครับรู้ว่า มีกฎหมายหรือโลโก้นี้อยู่ แต่ในอนาคต เราจะเริ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น แต่ขอชี้แจงว่าเราไม่ได้คิดว่าจะคอนโทรลทุกอย่าง แต่เน้นผลิตภัณฑ์ที่คนไทยบริโภคเป็นประจำเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่ม นม เป็นต้น"
คุณหมอไพโรจน์ให้ข้อมูลเชิงวิชาการเสริมว่า ในแง่โภชนาการ หากคนเราลดการบริโภคอาหารที่หวาน มัน เค็ม น้อยลงบ่อยๆ ระบบประสาทการรับรสของคนเรา ก็จะปรับตัวได้เอง
"ผมยกตัวอย่างเรื่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ปกติมีโซเดียมถึง 1,200 มิลลิกรัม แต่ถ้าเราลดมากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่มีโซเดียมแค่ 600-700 มิลลิกรัม ประสาทการรับรสชาติค่อยๆ ลดลง ซึ่งเราจะแทบไม่รู้เลยว่ามันแตกต่างกัน แต่สำคัญคือต้องทำทั้งระบบถึงจะเกิดเอฟเฟ็คท์ ทั่วประเทศ"
จับจ่ายซื้อของครั้งใด ต่อไปนี้อย่าลืมดูว่า มีฉลากทางเลือกสุขภาพหรือ Healthier Logo บนบรรจุภัณฑ์หรือไม่ทุกครั้ง