คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนเมษายน 2568)
สวัสดีครับเพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน
เทศกาลสงกรานต์ที่กำลังใกล้เข้ามา เป็นเวลาแห่งความสุขเป็นเวลาที่ครอบครัวมาพบปะกัน คนที่ไปทำงานห่างไกลบ้านกลับมาเจอหน้ากัน เป็นเวลาที่ผู้น้อย ได้มาคารวะ ขอพร ผู้หลักผู้ใหญ่เป็นเวลาที่ขออโหสิกรรมร่วมกัน ในผู้ที่ทำงานร่วมกัน บางครั้งหัวหน้า กับลูกน้อง อาจจะล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ด้วยความมุ่งมั่นในงาน จนบางครั้งวาจาอาจจะกระทบกระทั่งกันบ้าง ใจอาจจะโกรธแต่ไม่ได้บอกไปบ้าง ก็เป็นเวลาที่จะละวางซึ่งอัตตา อโหสิกรรมให้แก่กัน เวลาแห่งห้วงเทศกาลสงกรานต์จึงเป็นวันเวลาแห่งความสุข สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สสส. ที่อยากเห็น “ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยมีความสุข”
แต่แน่นอนว่า ในทุกข์มีสุข ในสุขย่อมมีทุกข์ ในเทศกาลแห่งความสุขในระหว่างและหลังช่วงสงกรานต์ หลายครอบครัวอาจจะต้องเผชิญกับความทุกข์ ทั้งการสูญเสียคนที่รัก ญาติมิตรจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 300 คน 300 ครอบครัวเลยทีเดียว นอกจากนั้นแล้วอาจจะพบกับความพิการของคนที่รัก อีกกว่า 2 เท่า คือ 600 คนที่อาจจะต้องถูกดูแลจากกระดูกหัก กะโหลกร้าว สมองพิการ เป็นภาระทั้งแบบชั่วคราว หรือตลอดชีวิตเลยก็ได้
เพราะอะไรนั่นหรือที่ทำให้คนไทย แตกต่างจากชาติอื่น ที่จัดการกับอุบัติเหตุทางถนนได้ไม่ยาก จะด้วยค่านิยม วิถีชีวิต ความเชื่อ นิสัยหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้ไทยเป็นไทย คือ มีอุบัติเหตุทางถนน อันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งลดมาจากอันดับที่ 2 ของโลกแล้ว และอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยเป็นอันดับที่ 76 ของโลก โดยผู้ชายไทยอายุคาดเฉลี่ยต่ำกว่าผู้หญิงถึง 9 ปี คืออยู่ที่ 72 ปี
ในปี 2567 สสส. อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนร่วมกับทุกคนทุกภาคส่วนที่จะหยุดยั้งความตายและความพิการก่อนวัยอันควรนี้ให้ได้ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาควิชาการได้พยายามจับมือกับภาคนโยบายและภาคราชการ ในการมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาครั้งนี้ ในปีนี้ สสส. เองมีแคมเปญสื่อสารว่า “ดื่มแล้วขับอาจจะเป็นฆาตกร” ทั้งฆาตกรต่อคนที่เรารัก คนที่เราไม่รู้จัก และตัวเราเองในภาคส่วนพื้นที่ สสส. ได้มีส่วนในการทำงานร่วมกับตำบลสุขภาวะกว่า 3,000 ตำบล ในการร่วมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน และร่วมกับภาคี สอจร. ศวปถ. และภาคีเครือข่ายป้องกันอุบัติภัยทางถนนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนอำเภอ ชุมชน และพื้นที่นำร่องจำนวนมากในการสนับสนุนด่านชุมชน รวมถึงด่านครอบครัว
แน่นอนว่า สงครามนี้ยังต้องดำเนินการอีกยาวนาน เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการกระทำ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ จนไปถึงการเปลี่ยนแปลงนิสัยที่คนไทยยังเชื่อว่า ดื่มแล้วขับ ขับอีกนิด ใกล้ไม่เป็นไร นิสัยและความเคยชินของการไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งนิสัยเหล่านั้นได้ส่งต่อไปยังบุตรหลานจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีเยาวชน และเด็กที่พิการเพิ่มขึ้น ซึ่งร้ายแรงมากในภาวะที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเด็กเกิดน้อยและเด็กยังพิการ และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก
สสส. ขอเป็นหนึ่งในกำลังใจ กำลังสนับสนุนให้ทุกภาคีเครือข่ายบนผืนแผ่นดินไทยได้ขับเคลื่อนปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ให้กลายเป็นความปลอดภัยทางถนน ให้ได้ในวันใดวันหนึ่ง ผมเชื่อว่าพลังแห่งความดีของทุกภาคี ที่มุ่งหวังอย่างจริงจังที่อยากเห็นสังคมไทยดีงาม จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราชนะในสงครามนี้ได้ ในวาระสงกรานต์นี้ ผมเชื่อมั่นว่า พลังความดีเหล่านี้จะปกปักรักษาให้ภาคีทุกคน และชาวไทยมีสุขภาวะอนามัยที่แข็งแรงพร้อมสู้กับวิกฤตในระดับประเทศและระดับโลกที่กำลังถาโถมเข้ามาครับ