คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนกันยายน 2567)

สวัสดีครับเพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน

           เดือนกันยายน เป็นเดือนแห่งปลายปีงบประมาณ เป็นเดือนที่จะต้องขบคิดว่า ปีหน้า จะขับเคลื่อนอะไร กำหนดทิศทางอย่างไร ผมในฐานะคนหนึ่งในทีมผู้นำทัพสร้างเสริมสุขภาพ ถามตนเองว่า “เราจะมีอะไรใหม่ในการรบกับสงครามโรค ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น” แน่นอนว่า นักรบสุขภาพที่มีอยู่ อาจจะไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้ “ประชาชนและชุมชน” ถือดาบมาร่วมรบด้วย แต่เรื่องเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 7+1 บางทีประชาชนมองเป็นเรื่องไกลตัว จึงไม่ค่อยสนใจ เขาคงคิดในใจว่า “ฉันอยากจะดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สสส. มายุ่งอะไร”

           ผมจึงคิดว่า ใคร ๆ ก็อยากอายุยืนยาว ไม่พิการติดเตียง ถ้าเราสามารถนำข้อมูลมาบอกว่า สสส. จะมาช่วยให้คนในชุมชนทุกคนมีชีวิตยืนยาว ไม่ตาย หรือพิการก่อนวัยอันควร ประชาชนก็น่าจะอยากมาร่วมด้วยไม่ยาก โชคดีที่ สสส. ได้สนับสนุนการศึกษาเรื่อง “ปีสุขภาวะที่สูญเสียไป” และ “การคำนวณอายุคาดเฉลี่ย” โดยมีอาจารย์กนิษฐา บุญธรรมเจริญ เป็นผู้ศึกษาวิจัย พบว่า ผู้ชายไทยมีอายุคาดเฉลี่ยต่ำกว่าผู้หญิงถึง 8 ปี

           ขณะเดียวกันได้ทบทวนข้อมูลที่อาจารย์นพ.พินิจ ฟ้าอำนวย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลสาเหตุการตาย ปี 2565 พบว่า ผู้ชายอายุ 15-29 ปี เสียชีวิตถึง 11,009 คน ซึ่งมากกว่าผู้หญิงที่เสียชีวิตเท่ากับ 3,598 คน เรียกว่ามากกว่าถึง 3 เท่า ผู้ชายอายุ 30-44 ปี เสียชีวิตถึง 29,516 คน ซึ่งมากกว่าผู้หญิงที่เสียชีวิตเท่ากับ 10,222 คน มากกว่าถึง 3 เท่าเช่นกัน

           เมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็ถึงบางอ้อว่า ส่วนใหญ่ผู้ชายช่วงวัยรุ่น และวัยหนุ่ม เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย น่าตกใจว่าโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุ 30-44 ปี ผู้ชายเสียชีวิตถึง 2,000 คน ในขณะที่ผู้หญิงเสียชีวิต 592 คน ต่างกันถึงกว่า 3 เท่า ซึ่งก็น่าจะสัมพันธ์กับการดื่มสุราและการสูบบุหรี่

           ข้อมูลมีแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ ชุมชน ท้องถิ่น สนใจ การใช้การเรียงลำดับจะช่วยได้มาก โดยข้อมูลขณะนี้พบว่า จังหวัดที่มีอายุคาดเฉลี่ยในเพศชายต่ำที่สุดของไทย คือ จ.ยโสธร (68 ปี) ตามด้วย จ.กาฬสินธุ์ (68.1 ปี) จ.ชัยภูมิ (68.3 ปี), จ.แพร่ (68.5 ปี) จ.ร้อยเอ็ด (68.6 ปี) หากสามารถสื่อสารให้คนใน จ.ยโสธร ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน ทุกอบต. ทุกอำเภอ มาร่วมกันทำให้อุบัติเหตุจราจรลดลง เด็กจมน้ำตายลดลง โรคเส้นเลือดสมองแตกลดลง โดยกระบวนการสังคม ชุมชน อาจจะสำเร็จก็ได้

           เขาไม่จำเป็นต้องรณรงค์เรื่อง เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ ตามที่ สสส. ต้องการ แต่เมื่อเขาไปสอบสวนการตาย และความพิการก่อนวัยอันควรที่เกิดขึ้นแล้ว พยายามหาทางป้องกัน เขาจะพบว่า ปัญหาการตายและพิการก่อนวัยนั้น ก็มาจากพฤติกรรมเสี่ยง การใช้ชีวิตแบบประมาท จากการดื่มสุรา สูบบุหรี่ ไม่สวมหมวกนิรภัย และถ้าเขาจะแก้ไข ก็เป็นการบ้าน เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไขร่วมกัน สสส. ยินดีเข้าไปช่วยสนับสนุนให้จังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน สามารถแก้ปัญหาสุขภาพของเขาเองได้ “ความเป็นเจ้าของปัญหา และการเป็นหุ้นส่วนสุขภาพ” เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้

           ในช่วงสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ที่มีคนเกิดน้อยลงเหลือประมาณ 500,000 คน/ปี และคนตาย 600,000 คน/ปี ติดลบ 100,000 คนทุกปี ในอนาคต 60 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะเหลือแค่ 33 ล้านคน ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยการลดการตายก่อนวัยอันควร คือเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ซึ่งมีถึง 170,000 คน/ปี จะเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ไทยฝ่าวิกฤตประชากรไปได้ นี่ยังไม่นับการลดความพิการก่อนวัยอันควรด้วย

           จึงจำเป็นที่ สสส. ซึ่งมีจุดแข็งในการสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ ที่หลากหลาย จะใช้ข้อมูลที่มีอยู่มาร้อยเรียงต่อจิ๊กซอว์ ให้เกิดการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนสังคม จนกลายไปสู่ การสร้างสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลองค์ความรู้ (Data-driven society) ผมยังเชื่อมั่นและมั่นใจว่า…

           “เราจะสามารถสร้างสังคมที่ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย มีวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดีได้ ในเวลาอีกไม่นานครับ”

Shares:
QR Code :
QR Code