คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนมิถุนายน 2567)
สวัสดีครับเพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน
“การคุกคามทางเพศ” นับเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ ผู้ชาย ผู้หญิง LGBTQ+ ล้วนมีสิทธิที่จะปกป้องตัวเอง ไม่มีใครสมควรถูกละเมิดทั้งกาย วาจา ใจ
แต่ทุกวันนี้เรายังสามารถพบเห็นการใช้อำนาจในทางมิชอบที่พาไปสู่การละเมิดสิทธิโดยเฉพาะ “การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน” เป็นสิ่งที่ยังสามารถพบเห็นการใช้อำนาจในทางมิชอบนั้นจนก่อให้เกิดความทุกข์และกลายเป็นแผลใจของใครหลายคน
ในสมัยที่ผมเป็นแพทย์จบใหม่ เมื่อ 30 ปีก่อน เคยได้พบเจอกับเหตุการณ์ที่เกิดจากการใช้อำนาจของผู้บริหารระดับสูง ยื่นข้อเสนอใช้อำนาจหน้าที่มาล่อใจผู้ใต้บังคับบัญชา และเข้าถึงตัวโดยอีกฝ่ายไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ จนกลายเป็นความทุกข์ทรมานของผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ต้องทำงานอย่างหวาดหวั่นว่าจะถูกเล่นงานเมื่อไม่ยินยอมพร้อมใจ เพราะฉะนั้นอย่าให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมอีกเลย
ทุกวันนี้ความทุกข์นี้ยังคงวนเวียนอยู่ในที่ทำงานต่าง ๆ ทั้งส่วนราชการ และภาคเอกชน สะท้อนให้เห็นจากการสำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ระหว่างวันที่ 9-16 พ.ค. 2567 กลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีขึ้นไป 2,000 คนสำรวจโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ สสส. ซึ่งน่าตกใจว่า ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ลูกจ้างรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน เกือบ 1 ใน 4 เคยพบเห็นการคุกคามในที่ทำงาน สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น คือ ในจำนวนนี้ มากกว่า 1 ใน 4 กลับไม่ได้ทำอะไรกับเหตุการณ์ที่พบเจอเลย แม้จะรู้ว่านั่นคือการคุกคาม
มีคนจำนวนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อ เคยถูกคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นจากคำพูดที่หลายคนอาจมองว่า เป็นเรื่องหยอกเย้ากันเล่น แต่คนฟังอาจจะไม่ได้เห็นเป็นเรื่องสนุกไปด้วย จึงกลายเป็นความทุกข์ เพราะรู้สึกอยู่เสมอว่าโดนคุกคาม หรือแม้แต่การจ้องมอง ใช้คำแทะโลม หรือถูกเนื้อต้องตัวโดยไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจ
แน่นอนว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถูกคุกคาม เลือกที่จะ “นิ่งเฉย” เพราะหวาดกลัว ไม่แน่ใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่า การร้องเรียน หรือการขอความช่วยเหลือนั้น จะส่งผลกระทบกับหน้าที่การงานตนเองอย่างไร หรือจะทำให้ตนเองตกอยู่ในที่นั่งลำบากแค่ไหน ทั้งที่ “ผู้ถูกคุกคาม” สมควรได้รับการปกป้องอย่างยุติธรรม
ในแง่ของการปกป้องไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อ สสส. ในฐานะองค์กรที่ดูแลด้านสร้างเสริมสุขภาพ มีบทบาทหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของบุคคลทุกเพศสภาพเราขอเป็นแกนนำในการประกาศเจตนารมณ์ในการป้องกันการคุกคามทางเพศในการทำงาน 1.บริหารงาน และปฏิบัติงานบนความเสมอภาค เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2.สร้างวัฒนธรรมองค์กร ปลูกฝังค่าที่นิยมที่ดี 3.สร้างสภาพแวดล้อม ส่งเสริมความปลอดภัยในองค์กร 4.มีกลไกและกระบวนการในการป้องกันการคุกคามทางเพศ โดยยกระดับการป้องกันการคุกคามทางเพศที่เข้มข้นขึ้นด้วยมาตรฐานสากล
นอกจากระดับองค์กร สสส. ยังจะขยายการทำงานเรื่องการปกป้องคุ้มครองการคุกคามทางเพศ ขยายผลไปถึงภาคีเครือข่ายกว่า 2,000 องค์กร พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งองค์ความรู้ ชุดข้อมูลวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ และจัดอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการคุกคามทางเพศในทุกรูปแบบ ติดต่อที่ 02-343-1500, เฟซบุ๊ก แฟนเพจ “สสส.” หรือ แฟนเพจ “นับเราด้วยคน” เพื่อร่วมสานพลังสังคมที่ปลอดจากการคุกคามทางเพศ
ผมในฐานะผู้จัดการกองทุน สสส. จึงขอชวนทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ร่วมแสดงพลังป้องกัน ต่อต้าน การคุกคามทางเพศ ทุกที่ทุกรูปแบบ เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ปลอดจากการคุกคามทางเพศ สร้างบรรทัดฐานการไม่ยินยอม ร่วมส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล ปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน