คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนมีนาคม 2565)

สวัสดีครับ เพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน

โควิด-19 นับเป็นวิกฤตยืดเยื้อยาวนาน ท่ามกลางสถานการณ์ที่แปรผันอยู่ตลอดเวลา โดยการกลายพันธุ์ของไวรัส นับเป็นจุดเปลี่ยนเกม

“โอมิครอน” ทำให้จำนวนการติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลกอีกครั้ง หลังจาก “เดลต้า” ทำเอาสาหัสเมื่อปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากแต่ความรุนแรงของการติดเชื้อได้ลดระดับลง ประกอบกับการฉีดวัคซีนในส่วนใหญ่ของประชากร ทำให้จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตไม่สูงมากจนเกินกำลังรับมือของระบบบริการสุขภาพ

แนวโน้มของสถานการณ์เช่นนี้ ในการระบาดยาวนานเข้าสู่ปีที่ 3 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมอ่อนเปลี้ยทรุดโทรมลง ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกปรับการรับมือกับโควิด-19 จากการมุ่งให้ปลอดโรคเป็นการอยู่ร่วมกับไวรัสตัวนี้โดยคงความปกติสุขของการใช้ชีวิตเช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ที่มนุษย์อยู่ร่วมด้วยในทุกวันนี้

                     ราว 40 ปีก่อน เฮชไอวีไวรัสหรือโรคเอดส์คุกคามมนุษยชาติอย่างหนักหน่วง มีผู้ติดเชื้อล้มตายจำนวนมาก และสังคมโลกโดยรวมก็ถูกระทบจากโรคนี้อย่างรุนแรง จนรัฐบาลไทยต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการควบคุมโรคนี้ ทว่าทุกวันนี้ ไวรัสเอชไอวีก็ยังอยู่ไม่ได้ถูกกำจัดสิ้นไป ไม่มีวัคซีนป้องกันด้วยซ้ำ แต่เรายังอยู่ร่วมกับมันได้ โดยระบบบริการทางการแพทย์มีการปรับบริการป้องกันการติดเชื้อไวรัสอย่างครอบจักรวาล (universal precausion) อีกทั้งพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์โดยการใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่องปกติใหม่มาจนทุกวันนี้

การอยู่ร่วมกับโควิด-19 จากวันนี้ไป ก็จะอยู่ในทิศทางทำนองเดียวกัน

รัฐบาลเตรียมลดระดับโรคนี้จาก “โรคระบาดร้ายแรง” ลงสู่โรคประจำถิ่น หรือโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง

การติดตามรายงานจะลดระดับลง เช่น เราคงเลิกรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายวัน และไม่เรียกผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่า “ผู้ป่วย” อีกต่อไป คงเหลือเพียงการรายงานยอดผู้ติดเชื้อที่ป่วยอาการหนักเท่านั้น ส่วนมาตรการป้องกันในสังคม ก็จะไม่มีการล็อกดาวน์หรือปิดกิจการกิจกรรมเป็นวงกว้างอย่างที่เคยทำเมื่อ 2 ปีก่อนอีก

พร้อมไปกับ “ความปกติใหม่” หรือ “ชีวิตวิถีใหม่” ก็ต้องสร้างขึ้นคู่ขนานไป ด้วยความเข้าใจว่าเราไม่อาจรับมือโควิด-19 โดยยังใช้ชีวิตอยู่ใน “ความปกติเดิม” อยู่ได้ แม้ว่าอาจจะไม่เข้มเท่ากับช่วงที่เราต้องเผชิญกับโรคระบาดใหม่นี้ก็ตาม

สิ่งใดจะคงอยู่ สิ่งใดจะลดทอนหรือเลิกไป เป็นเรื่องที่วงการสุขภาพต้องตัดสินใจร่วมกับภาคส่วนอื่นในสังคม จากองค์ความรู้ที่สร้างขึ้น และ สสส. คงจะเข้าไปมีส่วนร่วมกันพัฒนา “ชีวิตวิถีใหม่” นี้ด้วยแน่ โปรดติดตามกันต่อไปในเร็ว ๆ นี้

ท้ายนี้ สสส. ขอแสดงความยินดี กับ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ นักวิชาการอาจารย์แพทย์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด และประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 150 ได้มีมติเห็นชอบรายชื่อผู้ได้รับรางวัล Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health 2022 ซึ่งเป็นรางวัลดีเด่นด้านการสาธารณสุข ในความระลึกถึง นายแพทย์ ลี จง-วุค โดยผลงานที่ท่านได้ผลักดันมาตลอด เพื่อให้คนไทยปลอดภัยจากบุหรี่ ซึ่งได้ต่อยอดไปสู่การผลักดันให้คนไทยตระหนักถึงการดูแลสุขภาพในด้านอื่น ๆ อีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code