คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนกุมภาพันธ์ 2565)

สวัสดีครับ เพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน

ก้าวเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ อากาศเริ่มแปรปรวนอีกครั้ง ในช่วงต้นปีแบบนี้สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษนอกเหนือจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กลับมาระบาดหนัก คือ ปัญหามลพิษทางอากาศ เนื่องจากมีสภาพอากาศลมอ่อน อากาศนิ่ง การกระจายตัวของฝุ่นละอองไม่ดีและมีโอกาสสะสมในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งอาจส่งผลให้ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมลพิษทางอากาศ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของไทย

สสส. กำหนดให้เรื่องมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นหนึ่งในเป้าหมายระยะ 10 ปี (พ.ศ.2565-2574) ที่จะเน้นการสนับสนุนทุกภาคส่วนเข้าร่วมแก้ไขปัญหาเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย สสส.มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วย “อากาศสะอาด” (Clean Air Act) ซึ่งมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาควิชาการ การศึกษาเอกชน และภาคการเมืองเข้าร่วมแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่จะเพิ่มการจัดการเพื่ออากาศสะอาดอันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

อีกภัยต่อชีวิตและสุขภาพที่สำคัญที่เป็นข่าวสะท้อนใจผู้คนช่วงที่ผ่านมา คือเหตุการณ์ที่ตำรวจขับขี่บิ๊กไบค์พุ่งชน “พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล” หรือ “หมอกระต่าย” ขณะเดินข้ามทางม้าลายกลางกรุงเสียชีวิต นับเป็นกรณีที่สะท้อนถึงพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย จากการสำรวจข้อมูลอุบัติเหตุชนคนข้ามถนนบนทางม้าลายของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่สนับสนุนโดย สสส. ประมาณว่า มีผู้ถูกรถชนเสียชีวิตบนทางม้าลายประมาณ 500 คนต่อปีหรือราวร้อยละ 6 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยพบเกิดเหตุในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากที่สุด

ทั้งที่ทางม้าลายก็นับเป็นเครื่องหมายจราจรตามมาตรา 32 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้ “ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชนหรือโดนคนเดินเท้าไม่ว่าจะอยู่ ณ ส่วนใดของทาง และต้องให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัวเมื่อจำเป็น” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 152 คือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่คนไทยทุกคนรู้ดีว่ากฎข้อนี้ไม่ได้ประจักษ์ในความเป็นจริงบนถนนต่าง ๆ แต่อย่างใด

แม้จะชาชินกันมานาน แต่ความสะเทือนใจจากเหตุนี้ก็ได้กระตุ้นให้คนไทยหันมาตั้งคำถามต่อผู้รับผิดชอบ และผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยกันต่อการเคารพกฎจราจรเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะกับทางม้าลายกันก้องแผ่นดิน ภาคีสุขภาพจำนวนหนึ่งออกมารณรงค์ #หมอกระต่ายต้องไม่ตายฟรี กับครอบครัวของคุณหมอ ที่ไม่เพียงเรียกร้องพฤติกรรมส่วนตัวของผู้ขับขี่เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงปัญหาเชิงระบบ รวมไปถึงโครงสร้างและมาตรฐานทางข้ามทางม้าลายที่ปลอดภัยด้วย

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผู้คนที่เชื่อในความรักให้ความสำคัญกับเดือนพิเศษนี้ ช่วยกันส่งพลังของความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ผลักดันนโยบาย และค่านิยมในสังคมที่จะพาให้ทุกคนผ่านพ้นปัญหายาก ๆ ที่จะเข้ามาในปีนี้ได้ด้วยกัน

Shares:
QR Code :
QR Code