แพทย์แนะ ปชช.ควรรู้จักศูนย์พิษวิทยาช่วยปฐมพยาบาลพิษเบื้องต้น
แพทย์แนะประชาชนควรรู้จักศูนย์พิษวิทยา ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังเกิดเหตุเด็กกินยาฆ่าแมลง พร้อมเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ผ่านหมายเลข 0-2201-1083
จากกรณีที่เด็ก 5 ขวบ กินยาฆ่าหญ้าที่ตาเทใส่ไว้ในขวดน้ำอัดลม เตรียมจะนำไปฉีดฆ่าหญ้าในไร่อ้อย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล ให้แพทย์ล้างท้องช่วยชีวิตและได้รับการช่วยเหลือจนอาการปลอดภัยพ้นขีดอันตรายแล้วนั้น รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการโครงการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าเด็กที่กินยาจากสารพิษแล้วเสียชีวิตมีถึงปีละ 80-100 คน แบ่งเป็นกลุ่มเด็กเล็กจากอุบัติเหตุ ที่กินยาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง กับอีกกลุ่มคือกลุ่มเด็กโต ที่กินยาเพื่อประชดชีวิต หรือต้องการทำร้ายตัวเอง โดยกลุ่มยาที่เด็กกินเข้าไปและมีอันตรายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาลดไข้ ยาบำรุงเลือด ซึ่งเป็นอันตรายมากหากเด็กกินเข้าไป 2.น้ำยาทำความสะอาด พวกที่อยู่ในขวดสีสวยๆ ไม่ว่ายี่ห้อใดก็ตาม และ 3.ยาฆ่าแมลง กำจัดวัชพืช กลุ่มนี้ก็เป็นอันตรายอย่างมาก เพราะมักมีการแบ่งบรรจุในขวดน้ำดื่มทั่วไป
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็ตาม การป้องกันจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญกับการเก็บบรรจุภัณฑ์ที่มีสารพิษต่างๆ ไว้ให้พ้นมือเด็ก โดยไม่ควรนำมาเก็บไว้ในขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม เพราะยิ่งเป็นเด็กเล็กยิ่งเสี่ยงเกิดอันตรายสูง เพราะด้วยความที่เด็กสนใจสิ่งแวดล้อม อยากหยิบอยากลอง และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเด็กดื่มสารพิษเข้าไปนั้น ทางที่ดีแนะนำให้ติดต่อไปยังศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2246-8282, 0-2201-1083 โดยศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 สายด่วน 1367 ซึ่งจะมีนักเภสัชพิษวิทยาประจำอยู่ตลอด สามารถให้คำแนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกวิธีได้ โดยผู้พบเห็นผู้ป่วยต้องเก็บขวด บรรจุภัณฑ์นั้นๆ ตัวยา ยี่ห้อ เพื่อเป็นข้อมูลในการสอบถามแก่แพทย์ในการให้คำแนะนำ
“จริงๆ ประชาชนต้องมีความรู้ และรู้จักว่าสารที่กินเข้าไปคือสารอะไร แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะรู้ได้หมด ดังนั้นการรู้จักเบอร์ศูนย์พิษวิทยา เพื่อให้คำแนะนำการปฐมพยาบาลให้เหมาะสมจึงถือเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ดีที่สุด เพราะสารบางตัว เช่น น้ำยาเช็ดกระจกถ้าดื่มเข้าไปในปริมาณที่ไม่มาก ก็อาจจะให้กินน้ำ หรืออยู่เฉยๆ รอดูอาการ โดยไม่ต้องพบแพทย์ แต่เป็นการติดตามอาการ แต่สารบางตัว เช่น พวกน้ำยากัดกระจกนั้น อันตรายมาก เมื่อกินเข้าไปจะมีฤทธิ์กัดหลอดอาหารทะลุและเสียชีวิตได้” รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าว
ส่วนกรณีที่รถยนต์ของผู้ปกครองชนเด็กนักเรียนในโรงเรียน เป็นเหตุให้เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นอันตรายอย่างมาก ที่ผ่านมามักจะพบเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถของอาจารย์ที่จอดไว้ในโรงเรียน ดังนั้นทางที่ดี คือการกันพื้นที่ไม่ให้มีรถยนต์มาจอดในพื้นที่ที่เด็กวิ่งเล่น หรือนั่งพัก ควรมีการแบ่งให้เป็นสัดส่วนให้ปลอดภัย
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร team content www.thaihealth.or.th