เวทีไทย-ทัน-สื่อ ร่วมระดมความเห็นสร้างเครือข่ายรู้เท่าทันสื่อ
ภาคประชาสังคมร่วมระดมความเห็นสร้างเครือข่ายรู้เท่าทันสื่อ แนะพลังเด็กเป็นหลักขับเคลื่อน ชี้ต้องเริ่มจากเด็กเล็ก พร้อมจัดเป็นชุดความรู้ให้เหมาะในทุกช่วงวัย
เครือข่ายทำงานรู้เท่าทันสื่อประเทศไทย (คทส.) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม มหกรรมรู้เท่าทันสื่อ ครั้งที่ 1 ตอน “ไทย-ทัน-สื่อ” เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเผยแพร่แนวคิด องค์ความรู้ด้านการเรียนรู้เท่าทันสื่อสู่ประชาชนผู้บริโภคสื่อ ที่ห้องประชุมเจเจ ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้า เจเจมอลล์ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานองค์กรเครือข่ายงดเหล้า กล่าวในการสัมมนากลุ่มย่อย เรื่องยุทธศาสตร์พัฒนาเครือข่ายและกลไกเท่าทันสื่อภาคสังคมว่า ยุทธศาสตร์พัฒนาเครือข่ายหลักที่จะทำให้เกิดผลคือ นโยบายสาธารณะที่เกิดจากภาคประชาชน ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ก็เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเกิดการเฝ้าระวังในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายโดยประชาชนเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเรื่องการรู้เท่าทันสื่อจะเดินไปในทำนองเดียวกัน คือการเฝ้าระวังโดยภาคประชาชนก็น่าจะเป็นผลดี โดยใช้เด็กและเยาวชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพราะเสียงของเด็กถือเป็นเสียงที่สื่อส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญมาก ถือว่าเด็กมีพลังอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะทำให้เกิดการยอมรับ ตลอดจนการใช้social media เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ปฏิบัติการทางสังคม สร้างการรับรู้ให้เท่าทันสื่อ เชื่อว่าในส่วนนี้จะเกิดแนวร่วมเข้ามาเป็นจำนวนมาก
รศ.ดร.อุษา บิ๊กกิ้นส์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กล่าวว่า ตนขอนำเสนอร่างพัฒนาโมเดลการขับเคลื่อนการรู้เท่าทันสื่อในประเทศไทย โดยมียุทธศาสตร์ที่ประกอบด้วยการร่างกฎหมายหรือกฎระเบียบ ที่มีองค์กรด้านกฎระเบียบเข้ามาเกี่ยวข้อง และจัดตั้งกองทุนที่มีนักวิชาการคอยช่วยสนับสนุนงานวิจัย จัดตั้งองค์กรอิสระด้านการกำกับสื่อและส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในระดับชาติ องค์กรภาครัฐ การผลักดันธุรกิจสื่อให้มีระบบควบคุมกันเอง และนักวิชาการ ครอบครัว และองค์กรภาคพลเมืองต่างๆ จะต้องร่วมมือกันทำงานขับเคลื่อน ทั้งนี้ตนอยากให้การพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อนั้นต้องพัฒนาเรื่องทักษะความคิดสร้างสรรค์ และการวิพากษ์สื่อ คือการเรียนรู้เท่าทันทุกรูปแบบของสื่อ มีการตั้งคำถาม และคิดเชิงวิเคราะห์ในเนื้อหาสื่อที่ได้รับและสร้างขึ้นมา โดยการศึกษาด้านรู้เท่าทันสื่อในอนาคต เน้นเรื่องการฝึกทักษะคิดเชิงวิเคราะห์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์เพื่อให้เกิดการค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
ด้าน ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า หากการจะรู้เท่าทันสื่อนั้น ถ้าเป็นการมองเปรียบเทียบกับการตลาด จะพบว่าในการพัฒนาเครือข่ายและกลไกเท่าทันสื่อภาคสังคมนั้นควรมีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในทุกกลุ่มของสังคม หรือการจัดทำผลสำรวจต่างๆ ที่นักวิชาการ นักวิจัยดำเนินการ โดยปกติจะทำในลักษณะของโฟกัสกรุ๊ป แต่ยังขาดเรื่องการสำรวจจากจิตวิทยาเชิงลึก ซึ่งทางการตลาดจะเน้นเรื่องนี้มาก ดังนั้นการทำงานวิจัยควรมีเรื่องของการสำรวจจากจิตวิทยาเชิงลึก สอบถามความคิด หรือการใช้หลักจิตวิทยาเข้าร่วมในงานวิจัย
“ภาพลักษณ์นักวิชาการไทย คือพูดเป็นแต่ทำงานไม่เป็น ซึ่งเราต้องลองปรับเปลี่ยนวิธีการในส่วนนี้ หรือจากที่ผมพูดคุยกับนักศึกษา เวลาเค้าพูดถึงเอ็นจีโอ คือนุ่งผ้าไทย พันผ้าพันคอ ซึ่งหากเรามีการเปลี่ยนภาพลักษณ์การแต่งตัวใหม่ ให้เกิดการรวมกลุ่มจากบุคคลที่หลากหลาย มันจะสร้างการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่การดึงแนวร่วมต่างๆ เราก็สามารถจะดึงกลุ่มที่เป็นฝ่ายตรงข้ามมาร่วมกับเราก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจดึงบริษัทขายขนมเด็กมาพูดเรื่องธุรกิจเหล้า ซึ่งเค้าจะสบายใจที่จะพูดและยังได้ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรของเค้าเองด้วย” ดร.ธาตรีกล่าว
นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเปิดแสงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว โดยมีการนำเสนอว่าควรจัดทำการเรียนรู้เป็นชุดความรู้ที่เหมาะกับช่วงวัย โดยหากเป็นเด็กก็ควรมีการจัดทำเป็นหลักสูตรที่ผสมผสานเข้าไปในการเรียนการสอนตั้งแต่เด็กระดับประถมศึกษา และที่สำคัญคือผู้ปกครองที่จะต้องมีส่วนอย่างมากในการรับรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งอาจมีการจัดทำรายการโทรทัศน์สร้างการรับรู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะจัดทำเป็นสารดีสั้นแต่ออกอากาศที่มีนำเสนอความถี่มากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการช่วยสร้างการรับรู้ได้มากขึ้น
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร team content www.thaihealth.or.th