“เริ่มขยับ” สร้างสุขภาพกาย-ใจดีกับมหกรรมกีฬามหามงคล 54

เริ่มแล้ว“มหกรรมกีฬามหามงคล 2554 เทิดพระเกียรติปีมหามงคล 84 พรรษา”ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ เพื่อเทิดพระเกียรติปีมหามงคล 84 พรรษา เนื่องในวันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ที่สวนลุมพินี โดยมีประชาชนกว่า 8,400 คนเข้าร่วม อาทิ จากลานแอโรบิก 100 แห่งทั่ว กทม. นักวิ่งจากชุมชนต่างๆ นักกีฬาจากสวนสาธารณะทั่วกรุง และประชาชนผู้สนใจเข้าออกกำลังกายเพื่อเทิดพระเกียรติ



งานนี้ จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “ชวนขยับทั้งประเทศ” โดยมีการวิ่งเทิดพระเกียรติจากนักวิ่ง 84 คน ร่วมกันอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์จากโรงพยาบาลศิริราชมาที่สวนลุมพินี หรือการรวมพลังนักกีฬา 8,400 คน รวมกันถวายราชสดุดี “84 พรรษามหาราช” และการร่วมกันออกกำลังกายเพื่อเทิดพระเกียรติ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ บูธตรวจสุขภาพ สาธิตการออกกำลังกายและให้คำปรึกษาสุขภาพด้านต่างๆ


ทั้งนี้ภายในงานมีจัดการเสวนาเรื่อง “ร่วมกันมองอนาคตประเทศไทยสู่การเป็นเมืองสุขภาวะ” โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะที่ลำบาก แม้จะขยับฐานะเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากขึ้น แต่ในภาพรวมเรื่องของสุขภาพจะพบว่าจะป่วยเป็นโรคที่ไม่เคยป่วยมากขึ้น หรือป่วยในโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคอ้วน เป็นต้น โดยจะพบว่ามีการประมาณการว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคปีละเป็นแสนล้านบาท และที่สำคัญโรคเหล่านี้เมื่อรักษาแล้วจะไม่หายเป็นปกติเหมือนเดิม


“ปีๆ หนึ่งเราต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหลายแสนล้านบาท ซึ่งโรคเหล่านี้เมื่อป่วยแล้ว รักษาก็ไม่หายเป็นปกติเหมือนเดิม ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเราผ่าตัดหัวใจ ยังไงก็ไม่ได้เป็นเหมือนเดิม ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ในทางแยก ทางแรกคือพบคนป่วยมากขึ้น ผมยกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกา มีการเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพมากขึ้นทุกปี ถึงร้อยละ 17 ขณะที่ในบางประเทศอย่างฟินแลนด์ สวีเดน สุขภาพประชากรดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพลดลง เพราะอย่างสหรัฐฯ ใครใคร่จะกินก็กิน ใครใคร่จะออกกำลังกายก็ออกกำลังกายไปซึ่งต่างจากประเทศที่มีประชากรที่มีสุขภาพดี”


โดย ทพ.กฤษดาขยายความในเรื่องนี้ไว้ว่า จากผลการสำรวจพบว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการโฆษณาขนมเด็กมากที่สุดในโลก เฉลี่ยชั่วโมงละ 30 ครั้ง เนื่องจากระหว่างที่รอให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เข้ามาช่วยควบคุมนั้น ส่งผลให้มีการโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างกลุ่มเด็กๆ ที่มักจะเชื่อในตัวโฆษณามากกว่าพ่อแม่ และเชื่อว่าหากไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง อนาคตไทยอาจกลายเป็นประเทศที่มีการโฆษณาขนมเด็กมากที่สุดก็ว่าได้


ทพ.กฤษดา จึงได้แนะนำไว้ว่า ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมจะต้องร่วมมือกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างศูนย์ราชการหรือกระทรวงสาธารณสุขที่ที่ตั้งของหน่วยงานมีระยะทางไกลที่ประชาชนที่เข้าไปติดต่อราชการ อาจต้องอาศัยรถรับจ้าง หรือการขับรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปถึงสถานที่นั้นๆ หากมีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ จัดให้มีทางเดินที่ร่มรื่น เชื่อว่าคงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่จะสมัครใจเดินเท้าเข้าไปมากกว่าเลือกการใช้บริการรถรับจ้าง หรือแม้แต่หน่วยงานภาคเอกชนเองอาจเริ่มต้นจากการจัดสถานที่จอดรถจักรยาน มีห้องอาบน้ำไว้ชำระร่างกายสำหรับผู้ใช้รถจักรยาน ถือเป็นการช่วยส่งเสริมเรื่องการออกกำลังกายให้กับพนักงานของบริษัทตนเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงจะขยับเพียงใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน


ด้าน นพ.ปัญญา ไข่มุก ผู้อำนวยการวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการกีฬา กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนไทยอายุ 0-40 ปี อ้วนขึ้น 7 เท่า อายุ 40-50 ปี อ้วนขึ้น 2 เท่า หญิงอ้วนมากกว่าชาย ขณะที่คนอ้วนเสี่ยงเกิดโรคมากกว่าคนผอม เช่น เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง 3 เท่า เบาหวาน 5 เท่า หลอดเลือดหัวใจตีบ 2 เท่า สาเหตุของการเกิดภาวะโรคอ้วนมีมากมาย อาทิ การรับประทานอาหารไขมันสูง หวาน เค็มจัด หรือแม้แต่การใช้อุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ขณะที่พบว่าคนไทยมีการออกกำลังกายเพียงร้อยละ 30 อีกร้อยละ 70 ไม่ออกกำลังกาย เพราะอ้างว่าไม่มีเวลา งานยุ่ง ไม่มีสถานที่ เป็นต้น ซึ่งเหตุผลลักษณะนี้จึงควรมีทางเลือกอื่นในการออกกำลังกายเป็นการทำกิจกรรมทางกาย หรือที่เรียกว่า PHICICAL ACTIVITY คือการทำสิ่งที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน โดยใช้แรงกาย แขนขา แทนการใช้เครื่องอำนวยความสะดวก เช่น การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ , ถีบจักรยานแทนการใช้รถ หรือล้างรถเอง แทนจ้างล้างรถ และที่สำคัญอย่าทำแต่กาย เอาหัวใจไปทำด้วย


ขณะที่ ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย บอกว่า ความจริงแล้วควรปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ของการใช้จักรยานว่า หลายคนอาจเข้าใจว่าการใช้จักรยานอาจต้องมีทางจักรยานเป็นการเฉพาะเท่านั้น ซึ่งหากเรามองในตัวเมือง เป็นเรื่องไม่ยากเลยที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยหันมาใช้จักรยานในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 5 กิโลเมตร เช่น การขี่จักรยานไปปากซอยแทนการเลือกใช้รถจักรยานยนต์รับจ้าง เพราะการออกกำลังกายบางครั้งไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ที่กว้างใหญ่ หรือไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อมเพรียงเสมอไป ขอแค่ให้คิดปรับพฤติกรรมใหม่ก็เพียงพอแล้ว ขณะเดียวกันภาครัฐเองต้องร่วมผลักดันด้านสังคมและให้ความรู้ความเข้าใจตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ต่อประชาชน


เห็นได้ชัดเจนว่า การออกกำลังกาย ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่ขยับ ก็นับเป็นจุดเริ่มของการสร้างสุขภาพดีๆ แล้ว เลือกทำวันนี้คงไม่สายเกินไป เพื่อร่วมสร้างร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัย


 


 


เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code