เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์
เรื่องโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากเวทีสัมมนา “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก ปี 68”
ภาพโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
“สงครามข้อมูล 2025” ประเทศไทยเผชิญวิกฤตข่าวปลอม เมื่อความจริงกลายเป็นของหายาก และความเชื่อมั่นกลายเป็นเป้าหมายของอาชญากร ทำให้เรากำลังอยู่ในยุคที่ “ความเชื่อ” ถูกแฮกง่ายยิ่งกว่า “รหัสผ่าน” และโลกที่ข่าวลวงแพร่เร็วกว่าข่าวจริง นี่คือ โลกที่ทุกคนกำลังเดินอยู่โดยไม่มีเข็มทิศ…
เนื่องใน “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” 2 เมษายน 2568 ยามที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตข่าวปลอมที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองหรือสุขภาพ แต่ยังขยายไปถึง ภัยไซเบอร์ ที่มาในรูปแบบของ “SMS หลอกลวง,” “สายโทรศัพท์ปลอม,” หรือแม้แต่ “คลิปตัดต่อที่เหมือนจริงจนแยกไม่ออก”
จากข้อมูลที่เผยแพร่ในงานสัมมนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโคแฟคประเทศไทย และภาคีเครือข่ายกว่า20 องค์กร เปิดเวทีระดับชาติ พูดคุย ภายใต้หัวข้อ “สงครามข้อมูล 2025: โจทย์แห่งความจริงในยุควิกฤตความเชื่อมั่น The Battle for Truth: Reclaiming Information Integrity in the Age of Distrust” พบว่า…
ในปี 2567 ประชาชนไทยถูกมิจฉาชีพหลอกลวงทางโทรศัพท์ถึง 38 ล้านสาย เพิ่มขึ้นถึง 85% เมื่อเทียบกับปี 2566 และถูก SMS หลอกลวงกว่า 130 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้นถึง 123% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่มูลค่าความเสียหายจากการหลอกลวงทางออนไลน์ในปี 2567 สูงถึง 60,000 ล้านบาท โดยรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีประชาชนกว่า 400,000 รายที่ถูกหลอกลวง และที่สำคัญการแก้ไขปัญหาข่าวเท็จและข้อมูลบิดเบือน ไม่สามารถทำได้โดยการออกกฎหมายเพียงฉบับเดียว
นี่ไม่ใช่เพียงปัญหาเชิงเทคนิค แต่มันคือ สงครามข้อมูล ที่ไม่มีควันปืน แต่รุนแรงไม่แพ้สงครามใดในประวัติศาสตร์ ขณะที่ ความเสี่ยงระดับโลก อย่างข้อมูลเท็จและบิดเบือน ถูกจัดอันดับโดย World Economic Forum ว่าเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของโลก และประเทศไทยก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อความท้าทายนี้อีกต่อไป
ซึ่งในงานสัมมนา ระบุ ถึงเวลาแล้วที่ “ความรู้เท่าทันสื่อ” จะต้องไม่ใช่แค่ทักษะเสริม แต่คือ เกราะป้องกันของประชาชนทุกคน และถึงเวลาที่การรับมือกับข่าวลวง…จะต้องกลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ไม่ใช่แค่ “วาระของคนไอที”
ยิ่งในยุคที่ข้อมูลหลั่งไหลเป็นสายน้ำ คนที่ไม่มี ‘ภูมิคุ้มกันสื่อ’ อาจจมน้ำ โดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังจม จากกรุงวอชิงตันถึงวากาดูกู จากกรุงเทพถึงเบอร์ลิน ข่าวปลอมได้กลายเป็นสงครามข้อมูลที่ไร้พรมแดน ประเทศทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาเดียวกัน นั่นคือ ความสับสน ความไม่เชื่อมั่น และความแตกแยกทางสังคมที่เกิดจาก “ข้อมูลบิดเบือน” และ “ข่าวลวง” ที่แฝงด้วยเจตนาสร้างผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ และจิตใจ
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะว่า “ ข่าวปลอมไม่ได้หยุดแค่พรมแดนประเทศไทย แต่ได้กลายเป็น “ไวรัสทางข้อมูล” ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก รวดเร็ว รุนแรง และไร้ภูมิคุ้มกันหากเราไม่รู้เท่าทัน
ดังนั้น ในการตรวจสอบข้อมูล โดยโคแฟค (Cofact) ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้และภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในการรับมือกับข่าวปลอมขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ซึ่งมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มมากกว่า 500,000 ครั้ง สะท้อนความสำเร็จในการร่วมมือกันของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสร้างสังคมแห่งความจริง สามารถแยกแยะข้อมูลที่ถูกต้องจากข้อมูลที่บิดเบือนและมีภูมิคุ้มกันต่อภัยร้ายของข่าวลวง” เบญจมาภรณ์ กล่าว
ในบทบาทของสื่อและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันข้อมูล รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ร่วมกับ สสส. และโคแฟค ว่า “เสรีภาพในการแสดงออกต้องเดินคู่กับความรับผิดชอบ ดังนั้น ภูมิคุ้มกันทางข้อมูล และ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ให้แก่ประชาชน จึงกลายเป็น “เครื่องมือแห่งชาติ” ที่ทุกประเทศต้องลงทุน
ด้าน เจฟฟ์ กัว ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โกโกลุก จำกัด (Whoscall) หนึ่งในผู้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ ความท้าทายระดับโลกและสงครามข้อมูล : การปฏิวัติ AI เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง? เล่าให้ฟังว่า “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เทคโนโลยีไม่ได้เป็นกลางเสมอไป
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนารวดเร็วเกินการตามทัน ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็มาพร้อมความสามารถในการสร้างเรื่องเท็จอย่างแนบเนียน เรากำลังเข้าสู่ยุคของ Deepfake, Bot บิดเบือนความจริงที่มักใช้ร่วมกับข้อความ SMS หลอกลวงปลอมเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของสงครามข้อมูล ที่กำลังปะทุขึ้นทั่วโลก
และที่น่าตกใจในปี 2566 มีมูลค่าความเสียหายจากการหลอกลวงทางดิจิทัลสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าบัญชีงบประมาณรัฐบาลไทยถึง 8 เท่า โดยเฉลี่ย 1 ใน 4 ของคนไทยถูกหลอก มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 36,000 บาท
ประเทศไทยมีจุดอ่อนทางวัฒนธรรมข้อมูล บางประการ เช่น เชื่อจากกระแส แชร์เพราะซึ้ง ตัดสินใจเร็วโดยไม่ตั้งคำถาม ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ในสื่อออนไลน์ แม้เราจะมีคำสอนดี ๆ อย่าง “กาลามสูตร” ของพระพุทธองค์ ที่เตือนให้ อย่าเชื่อเพียงเพราะคนพูด แต่สังคมไทยกลับเติบโตมาในระบบที่ไม่สอนให้สงสัยอย่างสร้างสรรค์
ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) เล่าว่า สถานการณ์การหลอกลวงทางออนไลน์ในประเทศไทยเป็นปัญหาที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
จากการทำงานตรวจสอบข้อมูลข่าวสารมา 5 – 6 ปี ได้ข้อสรุปบทเรียนว่า แม้พยายามรณรงค์ให้คนรู้เท่าทันข้อมูล แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการรับมือสงครามข้อมูลข่าวสารที่ถาโถม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การเมือง สังคมหรือล่าสุด คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา
เธอเสริมว่า “ในการรับมือกับสงครามข้อมูลข่าวสารคงไม่ใช่แค่เน้นให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อเท่านั้น แต่จะต้องยกระดับการแก้ปัญหาทั้งระบบ และชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันตรวจสอบข่าวสารก่อนที่จะทำการแชร์ ผ่านเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่าง “cofact” ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ฟรีที่เว็บไซต์ www.cofact.org หรือผ่านทาง Line OA : @Cofact”
สสส. ยังคงเดินหน้าสานพลังภาคีเครือข่ายสร้างภูมิต้านภัย ทักษะการรู้เท่าทันสื่อจากข่าวลวงซึ่งไม่ใช่ภัยเงียบ โดยศึกษาเรียนรู้การนำเทคโนโลยี AI เพื่อสร้างสรรค์ความก้าวหน้ามากกว่าเป็นเครื่องมือด้านมืด เพื่อสังคมที่ดีขึ้นไม่ใช่เพื่อลูกหลานในอนาคตเท่านั้น แต่เพื่อเราทุกคน ณ ตอนนี้