‘อยู่เกาะนี้ไม่มีไขมันเกาะ’ สร้าง 3 อ. อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน
ที่มา : เว็บไซต์แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
โรงเรียนเทศบาล 3 วัดสมุทราราม เปิดตัวโครงการ อยู่เกาะนี้ไม่มีไขมันเกาะด้วยจุดเด่นของพื้นที่ สร้างกิจกรรม 3 อ. รณรงค์อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน
เมื่อไม่นานมานี้ โรงเรียนเทศบาล 3 วัดสมุทราราม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 ใน 22 โรงเรียนโรงเรียนต้นแบบ ของโครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ในภูมิภาค ปีที่ 3 เทอม 2 จัดนิทรรศการโครงการอยู่เกาะนี้ไม่มีไขมันเกาะ ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง และชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย หวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กในโรงเรียนให้เข้าใจและเท่าทันโรคอ้วน
โดย นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์ลดน้ำหนักในเด็กระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้) ในภูมิภาค ปีที่ 3 เทอม 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการใช้สื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มุ่งใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ มีการถ่ายทอดให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อการสื่อสารสุขภาวะ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” โดยให้ความสำคัญกับครูผู้สอน เด็กนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน ในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning) กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้แก่ ครู และนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
“ทั้งนี้ผลการดำเนินงานโครงการ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน (ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้)” ปี 3 ที่ผ่านมา พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ หลังดำเนินโครงการฯ คณะกรรมการพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของนักเรียนโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (สมส่วน) เพิ่มขึ้น ท้วมหรืออ้วนสูงลดลงเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ผอม) ยังคงมีเท่าเดิม ซึ่งโดยภาพรวมการดำเนินงานเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกฝ่าย แต่สำหรับสื่อสร้างสรรค์ที่ใช้ในการรณรงค์ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ที่แต่ละโรงเรียนทำขึ้นนั้น ในหลายโรงเรียนทำได้ดี แต่ควรมีการพัฒนาให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น สามารถมีส่วนร่วมได้หลากหลายขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถกระตุ้นหรือจูงใจให้เด็กนำไปใช้ บอกต่อไปยังครอบครับ ชุมชน และสังคมรอบข้างต่อไปได้ด้วย” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
เมื่อเป็นเช่นนี้ นายดนัย หวังบุญชัย กล่าวต่อว่า สำหรับในเทอม 2 นี้ได้มีการต่อยยอดและขยายผลกิจกรรมและสื่อที่เกิดขึ้นในเทอม 1 ในโรงเรียนที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มทำต่อได้ จากเดิม 25 โรงเรียน เหลือ 22 โรงเรียน จาก 4 ภูมิภาค ให้สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้ครอบคลุมนักเรียนในโรงเรียนสามารถเท่าทันโรคอ้วน โรงเรียนเทศบาล 3 วัดสมุทรารามก็เป็น 1 ในโรงเรียนต้นแบบครั้งนี้ ซึ่งเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ ในเทอม 2 ของแต่ละโรงเรียนนี้คณะกรรมการจะดูจาก 1.ความต่อเนื่องของแผนจากเทอมแรก (ที่ทำให้เด็กเกิดความตระหนัก) 2.การขยายเครือข่ายในการทำงาน 3.การสร้างผู้นำเด็ก 4.ภาวะโภชนาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น 5.กิจกรรมทางกายที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อจากภูมิปัญญาท้องถิ่น 6.การรู้เท่าทันสื่อ และ 7.การบูรณาการกับวิชาต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานใหญ่รวมทั้ง 22 โรงเรียนเกิดขึ้นใจกลางเมือง แต่จะเป็นสถานที่ใดจะมีประกาศไว้ที่ www.artculture4health.com/nofat เร็ว ๆ นี้ และโรงเรียนใดสามารถทำได้ตามเกณฑ์แล้วมีความโดดเด่นที่สุดจะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปครอง ซึ่งจะเป็นโรงเรียนไหนนั้นเดือนพฤษภาคมนี้รู้กันแน่นอน
ซึ่ง นางสาววิภากร โพธิ์วิเศษ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 วัดสมุทราราม กล่าวว่า ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนสู่ความเป็นสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบต่อแบบแผนการบริโภคอาหารของครอบครัว และเด็กวัยเรียนเป็นอย่างมากการบริโภคอาหารที่ต้องอาศัยความรวดเร็วเพื่อความสะดวกต่อการดำรงชีพ ทำให้เกิดการบริโภคอาหารประเภทจานด่วน อาหารสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทโดยเฉพาะกับเด็กวัยเรียน ซึ่งอาหารประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูง ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมทั้งการติดเกมทำให้เด็กวัยเรียนมีการเคลื่อนไหวและออกกำลังกายน้อยลง องค์ประกอบเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนอันตรายของโรคอ้วนในเด็กซึ่งโรคอ้วนในเด็กกำลังเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย โรงเรียนเทศบาล 3 วัดสมุทรารามจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา ตามวัยอย่างเต็มศักยภาพด้วยการส่งเสริมในหลัก 3อ. อาทิ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ อย่างการสอนให้เด็กรู้จักอ่านฉลากโภชนาการแบบไฟจราจร เขียว เหลือง แดง ให้เป็นด้วยการไปบูรณาการทำให้เด็ก ๆ รู้และเข้าใจว่าไฟเขียว ไฟเหลือง ไฟแดง สำคัญอย่างไร?
โครงการ “อยู่เกาะนี้ไม่มีไขมันเกาะ” สร้างกิจกรรม 3 อ. รณรงค์อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ที่โรงเรียนเทศบาล 3 วัดสมุทราราม จ.สุราษฎร์ธานี
“โดยไฟเขียว คือ กลุ่มอาหารสีเขียว เป็นกลุ่มอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน และน้ำตาลระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของไฟจราจรก็คือ ไปได้ ผ่านได้ สามารถทานได้บ่อย ทานได้ทุกวัน ไฟเหลือง คือ กลุ่มอาหารสีเหลือง เป็นกลุ่มอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน และน้ำตาลระดับปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของไฟจราจรก็คือ ชะลอ ระมัดระวัง สามารถทานได้แต่ไม่ทุกวัน (ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์) ส่วน ไฟแดง คือ กลุ่มอาหารสีแดง กลุ่มอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน และน้ำตาลระดับสูง ต้องหยุด กินไม่บ่อย กินเป็นโอกาสพิเศษบางครั้งคราวเท่านั้น” นางสาววิภากร โพธิ์วิเศษ กล่าว
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในนิทรรศการนั้น” นางสาววิภากร โพธิ์วิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางโรงเรียนมีการส่งเสริมกิจกรรมให้มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย อาทิ กิจกรรมอยู่เกาะนี้อย่างไรไม่ให้มีไขมันเกาะ, กิจกรรมเมนูติดเกาะ ไขมันไม่เกาะ และกิจกรรมชวนขยับไขมันไม่เกาะ ด้วยเปตองชายหาด, โบลิ่งชายหาด, ทุ่มไกลพิชิตไขมัน, ชู๊ตให้ลงตะกร้า และดัมเบลพาเพลิน โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการรับประทานอาหารไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ ในทุกๆ มื้ออาหาร และชวนออกกำลังกายเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติให้มีใจรักการออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพ ที่สมบูรณ์แข็งแรง จากที่เด็กในโรงเรียนไม่ค่อยได้ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ตอนนี้เด็กได้รับรู้และเข้าใจมากขึ้น มีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น อยากเชิญชวนโรงเรียนอื่นๆ เอาจริงจังและสนับสนุนเด็กๆ แบบนี้ทุกโรงเรียน อนาคตเด็ก ๆ จะรักสุขภาพและห่างไกล “โรคอ้วน” ได้แน่ ๆ