“สุข (ภาวะ) กัน เธอ เรา” งานที่ชวนชุมชนมาพัฒนาพื้นที่เพื่อทุกคน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
"รักษาสุขภาพให้แข็งแรง…ขอบคุณ…โชคดี…" คือคำพูดจากคุณลุงผู้ป่วยติดเตียงที่กำลังทำกายภาพแขนและขา ณ ห้อง 16/15 บ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5 (หลังองค์พระ) ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม บอกถึงทีมงานจิตอาสาที่ขึ้นไปตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุในชุมชนแฟลต
ทีมงานจิตอาสาเหล่านี้ไม่ได้ ตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังร่วมกัน ลงแรง ปรับพื้นที่ในห้องพักที่มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหว การทำกายภาพบำบัด และป้องกันการลื่นหรือหกล้ม ซึ่งเรื่องราวถูกถ่ายทอดผ่านเวทีเสวนาวิชาการผู้สูงอายุแบบชาวชุมชน "สุข (ภาวะ) กัน เธอ เรา" ตอน เยือนถิ่นหลังองค์พระ ที่ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกันจัดขึ้นภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุ
ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำนัก 5 สสส. กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อปลุกพลังให้ชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิด-เข้าถึง-ช่วยเหลือ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ร่วมกันพัฒนาสุขภาวะอย่างรอบด้าน ทั้งสุขภาพ สภาพแวดล้อม ปรับปรุงที่พักอาศัยให้เอื้อกับการฟื้นฟูร่างกายผู้สูงอายุ พัฒนาสวนสุขภาพชุมชนเพื่อการส่งเสริมสุขภาวะ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาวัฒนธรรมจากปราชญ์ผู้สูงอายุ
"วันนี้ได้เห็นความเข้มแข็งและศักยภาพของ 4 ชุมชนต้นแบบ ทั้งศูนย์ผู้สูงอายุเขาทอง ต.เขาทอง จ.นครสวรรค์, บ้านเอื้ออาทรฯ ต.บางกระตึก จ.นครปฐม, ชุมชนวัดท่าพูด ต.ไร่ขิง จ.นครปฐม และ วัดบ้านกลึง ต.ขามเฒ่า จ.นครราชสีมา ยกตัวอย่าง ชุมชนชาวแฟลต บ้านเอื้ออาทรฯ นอกจากจะโดดเด่นเรื่องการปรับปรุง สภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อผู้สูงอายุแล้ว ยังเด่นเรื่องการจัดกิจกรรม เช่น ปลูกพืชผัก สวนครัวปลอดสารพิษ ขณะที่ชุมชนต้นแบบการพัฒนาสวนสุขภาพและกิจกรรมส่งเสริม สุขภาวะผู้สูงอายุโดยชุมชน วัดบ้านกลึง ต.ขามเฒ่า อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ได้ใช้หลัก 'บวร' เชื่อมการทำงานเพื่อสร้างลานพื้นที่สร้างสรรค์ใช้ในการออกกำลังกายของคนทุกวัยโดยการสนับสนุนจากชุมชนด้วยกันเอง" นายณรงค์ กล่าว
ด้านผู้สนับสนุนหลักอย่าง วีรวัฒน์ วรายน อาจารย์ประจำสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวถึงกระบวนการทำงานในโครงการว่า ทุกคนขับเคลื่อนงานภายใต้ความเชื่อที่ว่าชุมชนมีความสามารถและศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุด้วยบริบทของคนในชุมชนเอง เพราะมีความใกล้ชิด มีน้ำใจ และเข้าใจสภาพบริบท จึงเกิดทีมจิตอาสาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมให้ผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา สสส. และสถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกันรับฟัง แก้ปัญหา นำเสนอแนวทางให้ชุมชน เกิดเป็น 4 ชุมชนต้นแบบ เริ่มจากการเกิดทีมจิตอาสาเข้าไปทำงานร่วมกับท้องถิ่น ต่อยอดจนเกิดการบูรณาการร่วมกับบ้าน-วัด-โรงเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ การทำงาน และเปิดพื้นที่ขยายผลการทำงาน เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาวะผู้สูงอายุด้วยทีมจิตอาสาภายในชุมชน
หนึ่งเสียงจากทีมจิตอาสาชุมชนแฟลต ชุมชนบ้านเอื้ออาทรฯ ต.บางกระตึก จ.นครปฐม นฤมล ภูกองชนะ อายุ 29 ปี เล่าว่า เนื่องจากเห็นคุณพ่อทำงานตรงนี้จึงได้เข้ามาช่วย โดยมีหน้าที่หลักคือตรวจเยี่ยมห้องทุก 1 เดือน และช่วยเหลือยามฉุกเฉิน เช่น ผู้สูงอายุลื่นล้ม โรคประจำตัวกำเริบ ประสานงานเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที และปรับปรุงสภาพแวดล้อม ซึ่งในการตรวจเยี่ยมจะเป็นการเก็บข้อมูลผู้สูงอายุแต่ละห้อง แต่ละคน ร่วมกับ รพ.สต.ว่ามีความต้องการด้านใดเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการพื้นที่พักผ่อน และออกกำลังกายส่วนกลาง จึงได้ปรับพื้นที่เพื่อสร้างกิจกรรมนอกห้องพัก เช่น ทำแปลงปลูกผัก จัดกิจกรรมออกกำลังกายด้วยผ้าขาวม้า แอโรบิค ไลน์แดนซ์ ทำให้เกิดความสนิทสนม ความไว้วางใจ ได้มี สังคม ไม่เหงา ลดภาวะซึมเศร้า ช่วยเหลือ ตัวเองได้มากขึ้น รู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า นอกจากนี้ยังปรับปรุงห้องพักร่วมกับ นักกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการเพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเอง ได้มากขึ้นตามความต้องการแต่ละคน
เช่นเดียวกับชุมชนวัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม นวพร รัตนภูมิพงษ์ อายุ 63 ปี จิตอาสากลุ่ม มีดีที่ท่าพูด เล่าถึงการจัดกิจกรรมว่า ในกลุ่มร่วมกันพัฒนาพื้นที่กายภาพเพื่อจัดกิจกรรม (ออกแบบพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดท่าพูด) กิจกรรมทำความสะอาดพิพิธภัณฑ์ กิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญาสวดมนต์ไหว้พระที่วิหาร ออกกำลังกายและร้องเพลง ระบายสีพัดสาน นำขยะมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ทำให้เกิดกิจกรรมผู้สูงอายุย่อยตามบ้าน เกิดพื้นที่รวมตัวของผู้สูงอายุสำหรับการทำกิจกรรมที่หลากหลาย พื้นที่สำหรับการถ่ายทอดความรู้ให้คนทุกวัยที่เข้าร่วม เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เห็นคุณค่าและประโยชน์ของงานที่ทำ ทำให้สมาชิกเกิดความรู้สึกมีคุณค่า ไม่เหงา จิตใจสดชื่น และได้ออกกำลังกาย
"พื้นที่สุขภาวะ" ไม่ใช่แค่การจัดลานพื้นที่ต่าง ๆ แต่ยังรวมถึงการร่วมกัน คิด ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันสร้างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหลอมรวมเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยคนสุขภาพดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม