สสส.ส่ง “DoctorMe” บริการข้อมูลสุขภาพในภาวะน้ำท่วมผ่าน mobile web

สสส. ส่ง “DoctorMe” หมอดีในมือคุณ ช่วยน้ำท่วม บริการข้อมูลดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธีในภาวะน้ำท่วม ผ่าน mobile web เปิดเข้าดูฟรี แยกกลุ่มโรคชัดเจน อ่านง่าย พร้อมวิธีปฐมพยาบาล หวังลดป่วย-ตาย ในภาวะวิกฤต

ภาพประกอบ วิธีดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นที่มากับน้ำท่วมด้วยตนเอง

นายไกลก้อง ไวทยาการ รองผู้อำนวยการ สถาบัน ChangeFusionกล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในปีนี้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง พบว่ามีประชาชนเจ็บป่วยจากโรคที่มากับน้ำ ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขแล้วกว่า 9 แสนราย โรคที่พบมากที่สุด คือ น้ำกัดเท้าประมาณ 70%  และพบโรคเครียด ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ตาแดง และการเสียชีวิตจากไฟดูดด้วย ซึ่งในภาวะน้ำท่วมทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องหยุดให้บริการ อีกทั้งการเดินทางยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งให้ความรู้เรื่องการดูแลร่างกาย และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีการเจ็บป่วยต่างๆ โดยเฉพาะความเจ็บป่วยจากผลกระทบน้ำท่วม ซึ่งที่ผ่านมา สสส. และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นสุขภาพ “DoctorMe”จากเดิมใช้บริการได้เฉพาะผู้ใช้ iPhone, iPod Touch หรือ iPad พัฒนาโปรแกรมในรูปแบบ  mobile web รองรับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทุกยี่ห้อที่สามารถเปิดใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ โดยเข้าชมได้ทาง www.infoaid.org/doctormeflood เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ข้อมูลพื้นฐานเรื่องการดูแลตัวเอง เพื่อปฐมพยาบาลตนเองอย่างง่ายๆ และสามารถแบ่งปันความรู้ดังกล่าวผ่านทาง social network อาทิ Facebook และ Twitterให้ผู้อื่นสามารถนำไปใช้ดูแลตนเองได้

นายไกลก้อง กล่าวต่อว่า ชุดข้อมูลดังกล่าวที่รวบรวมขึ้น ได้จำแนกตามกลุ่มโรค และอาการ ที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่าย แบ่งเป็นกลุ่มโรค เช่น กลุ่มโรคทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคที่เกิดจากยุง โรคที่เกิดจากหนู เพื่อจำแนกอาการและบอกวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น จมน้ำหรือตกน้ำ การกู้ชีพหรือการฟื้นชีวิต หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไฟฟ้าช็อต การห้ามเลือด แผลสดทั่วไป แผลถลอก แผลตื้นหรือแผลมีดบาด (เลือดออกไม่มาก) แผลงูพิษกัด แผลแมลงกัดต่อย (ผึ้ง แตน ต่อ ตะขาบ แมงมุม แมงป่อง) เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างง่ายๆ และบรรเทาอาการของโรคในระยะแรกอย่างถูกต้อง

“อาการบางอย่างหากสามารถดูแลตนเองได้อย่างรวดเร็ว และถูกวิธี ก็สามารถช่วยให้ไม่ลุกลามบานปลาย ซึ่งในภาวะเช่นนี้ การขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ พยาบาล อาจล่าช้ากว่าปกติ หากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยมีข้อมูลความรู้ในการช่วยเหลือตนเองก็จะช่วยลดอาการบาดเจ็บ หรือเหตุที่จะทำให้เสียชีวิตได้ ”นายไกลก้อง กล่าว

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

Shares:
QR Code :
QR Code