สสส. ผนึกภาคี จัดโซนนิ่งเล่นน้ำปลอดภัยปลอดเหล้า
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
สสส. ผนึกภาคีเครือข่าย ชวนพื้นที่ทั่วไทย จัดโซนนิ่งเล่นน้ำปลอดภัยปลอดเหล้า แก้ปัญหาอุบัติเหตุที่ต้นตอ โชว์ผลงานปี 60 มีพื้นที่เล่นน้ำให้ความร่วมมือโซนนิ่งปลอดเหล้ากว่า 3,200 แห่ง พร้อมโปรโมตโฆษณา “สงกรานต์ กลับบ้านปลอดภัย” กระตุ้นเตือนขับขี่ไม่ประมาท มีวินัยจราจร ชี้ สงกรานต์ ปี 60 ดื่มแล้วขับ ตัวการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 43.06% ตามด้วยขับรถเร็ว 27.86%
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่พิพิธบางลำพู ถ.พระอาทิตย์ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว “สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมกับ สสส. เพื่อกระตุ้นเตือนเรื่องความปลอดภัยทางถนน และรณรงค์ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการมีพื้นที่ปลอดภัยปลอดเหล้าในการเล่นน้ำสงกรานต์ รักษาค่านิยมประเพณีการเล่นน้ำที่ดีงามของไทย โดย ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่าย สนับสนุนการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนมาตั้งแต่ปี 2546 โดยมุ่งสร้างกลไกการทำงานในเชิงระบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ เน้นการรณรงค์และป้องกันตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์เท่านั้น แต่สถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลจะสูงกว่าช่วงเวลาปกติ สสส. จึงใช้เป็นวาระรณรงค์กระตุ้นเตือนสังคมเป็นพิเศษ โดยข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ช่วงสงกรานต์ ปี 2560 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนน 3,690 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 390 ราย มีผู้บาดเจ็บ 3,808 คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ การเมาสุรา 43.06% รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด 27.86% รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 84.91% สอดคล้องกับข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ดื่มสุรา 1,674 ราย หรือ 20.75% แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเสี่ยงหลักทั้ง 2 ประเด็น เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น
ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวต่อว่า เทศกาลสงกรานต์ 2561 นี้ เป็นเทศกาลแห่งความสุขที่ทุกคนอยากอยู่กับคนที่คุณรัก สสส. มุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้จัดทำคลิปวิดีโอรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์นี้ ขับขี่ปลอดภัย ไม่มีใครเป็นหนึ่งในสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน” ชวนทุกคนร่วมสร้างสถิติใหม่ เป็นสงกรานต์ที่ทุกคนได้กลับบ้านปลอดภัย ด้วยการขับขี่ปลอดภัย มีวินัยจราจร ที่สำคัญคือ “ดื่มไม่ขับ” ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลให้ตัดสินใจเหยียบเบรกช้าลง ทำให้พฤติกรรมป้องกันตัวเองลดลง เช่น ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด นำไปสู่การลดสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตราย และลดสถิติการเสียชีวิตโดยรวมตลอดทั้งปี ทั้งนี้ สสส. ยังสนับสนุนให้ประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุ สามารถร้องขอให้ตำรวจตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์คู่กรณีได้ทุกราย แม้จะบาดเจ็บ เสียชีวิต ไม่สามารถเป่าเครื่องวัดทางลมหายใจได้ โดยตำรวจนำส่งตรวจเลือดที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศฟรี
ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล. ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกโดยสนับสนุนการจัด Zoning พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยปลอดเหล้า มาตั้งแต่ปี 2549 เริ่มจากทดลองจัด Zoning เล่นน้ำปลอดเหล้า 4 พื้นที่ ใน 3 จังหวัด และขยายพื้นที่ต่อเนื่องจากครบ 77 จังหวัดทั่วไทย ในปี 2557 โดยล่าสุด ในปี 2560 มีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ามากถึงกว่า 3,200 แห่ง ซึ่งเป็นผลมาจากกระทรวงมหาดไทย ได้บรรจุเป็นมาตรการสำคัญให้ทุกจังหวัดต้องจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย โดยในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ สสส. สนับสนุนเพียง 150 แห่ง อาทิ ถนนตระกูลข้าว 50 แห่ง และพื้นที่อื่นอีก 100 แห่ง ถือเป็นความสำเร็จที่ได้สร้างความร่วมมือแก้ปัญหาร่วมกัน ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 80.6% เห็นด้วยกในการจัดงานสงกรานต์แบบไร้แอลกอฮอล์ ช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียชีวิต ลดปัญหาทะเลาะวิวาท และไม่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ดังนั้น ในปี 2561 นี้ ยังมุ่งเน้นการขยายการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยปลอดเหล้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อปกป้องเยาวชนไม่ให้เป็นนักดื่มหน้าใหม่ในช่วงสงกรานต์ และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลลง
“ขณะนี้มีข้อกังวลในเรื่อง Midnight สงกรานต์ ที่ถูกธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายเหล้า เบียร์ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของความสูญเสีย ซึ่งสังคมต้องร่วมมือดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและความปลอดภัยของเด็กเยาวชนมากขึ้น โดยมีตัวอย่างภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จร่วมจัดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย อาทิ ห้าง Limelight Avenue จ.ภูเก็ต ห้าง Central World กรุงเทพฯ และจังหวัดขอนแก่น มีนโยบาย 1 อำเภอ 1 พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า รวมทั้งภาคชุมชนพยายามพัฒนาด่านชุมชนในรูปแบบต่างๆ อาทิ ตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดความสูญเสียจากการขับขี่รถด้วยความเร็วและมึนเมา” นายวิษณุ กล่าว
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน นอกจากบริหารจัดการระบบโครงสร้างเรื่อง รถ คน ถนน ให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยแล้ว การจัดการจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงก็มีความจำเป็น เพราะเป็นการทำงานเชิงป้องกัน โดยเฉพาะหน่วยงานระดับท้องถิ่นอย่าง อบจ. เทศบาล อบต. มีความสำคัญช่วยให้สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในภาพรวมของประเทศดีขึ้น เพราะอยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดปัญหา รู้และเข้าใจปัญหามากที่สุด จึงควรมีบทบาทเต็มที่ โดยสำรวจข้อมูล วิเคราะห์ร่วมกัน และเร่งแก้ไข ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่ปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยให้แก่เด็ก เยาวชน การฝึกทักษะการขับขี่ การเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายจราจร ข้อบังคับ โดยมีบทเรียนจากพื้นที่ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า “อุบัติเหตุทางถนนป้องกันได้” คือ อบต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และเทศบาลตำบลคำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ที่ลดอุบัติเหตุลงได้ โดยร่วมกันสำรวจพื้นที่ หาจุดเสี่ยงและเร่งแก้ไข อาทิ นำยางรถเก่าเลิกใช้แล้วมาประยุกต์ทาสีขาวแดงติดไว้บริเวณทางโค้ง, ทาสีขาวแดงบริเวณสะพานให้มองเห็นได้ชัดแต่ไกล ติดป้ายเตือน ขีดสีตีเส้นบนถนน ที่สำคัญมีการสร้างความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที