สร้างภูมิคุ้มกันสังคมไทย ต้านข่าวลวง ข่าวปลอม
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
เทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทำให้ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นทั้งสื่อและ ผู้รับสื่อเองได้ ขณะเดียวกันโอกาสดังกล่าวกำลังกลายเป็นดาบสองคม เพราะอีกผลกระทบที่ตามมา คือวันนี้สังคมกำลังขาดการตรวจสอบที่มาที่ไป ของข่าวสาร และน้ำหนักความน่าเชื่อถือ
"สมัยก่อนสื่อมวลชนทำหน้าที่ในฐานะ 'ผู้รักษาประตูข่าวสาร หรือ Gatekeeper' ที่คอยกรองข่าวให้กับประชาชน แต่ในวันนี้ทุกคนที่เป็นผู้ใช้สื่อสามารถส่งสารเองได้ จึงต้องทำหน้าที่ในการกรอง และพิจารณาว่าข่าวใดเชื่อถือได้/ไม่ได้ด้วยตนเอง" วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดประเด็น
ซึ่งด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ในสังคมข่าวสารยังทวีความรุนแรงขึ้น ของปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม จึงเป็นที่มาของการรวมพลังของภาคีเครือข่าย ทั้ง 8 องค์กร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, สภาการหนังสือพิมพ์ แห่งชาติ, Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF), องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS), คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เพื่อร่วมกันสร้างกลไกรับมือต้านข่าวลวง สร้างความตระหนักรู้ และวัฒนธรรมการตรวจสอบที่มาของข่าว ให้คนในสังคมก่อนจะเชื่อหรือแชร์ข้อมูลออกไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในเชิงลบ กับสังคมเป็นวงกว้าง
ทางด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของ สสส. ในการต่อต้านข่าวลวง ข่าวปลอมว่า สสส. เข้ามาช่วยประสานการทำงานกับ ภาคีเครือข่าย จัดกระบวนการ กลุ่มวิชาการ เฝ้าดูสถานการณ์ วิธีกลไกและการแก้ไข และจะเน้นไปที่เรื่องการพัฒนาศักยภาพของคนให้มีทักษะในการรู้เท่าทันในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง โดยเฉพาะ ในข้อมูลของสุขภาพ ที่จะต้องพัฒนาคน ให้สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลข่าวลวงข่าวปลอมได้
"การแชร์ข่าวลวงข่าวปลอม ข้อมูล ผิด ๆ ถูก ๆ ถือเป็น 1 ใน 3 สิ่งที่เรา มักจะแชร์กันเป็นประจำ ซึ่งส่งผลต่อ ความเข้าใจผิดของสังคม ไม่ว่าจะเรื่อง ยา การรักษา และพฤติกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงเรื่องเพศ เรื่องค้าขาย ซึ่งมี ผลกระทบมากกว่าข่าวสุขภาพด้วยซ้ำ" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่าน ของสื่อมวลชนที่พัฒนาจากสื่อกระจายเสียง และสื่อสิ่งพิมพ์ เข้าสู่ยุคของสื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้บทบาทของสื่อมวลชนแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป การตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและแหล่งที่มาของข่าวเปลี่ยนไป ผู้รับสารมีช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น การผลิตข้อมูลข่าวสารในหลากหลายรูปแบบรวมถึงข้อมูลข่าวสารลวงจึงเป็นปัญหาระดับโลก จึงเป็นที่มาของการผนึกพลังเพื่อรับมือกับปัญหาข่าวลวงข่าวปลอม โอกาสเดียวกันนี้ ทั้ง 8 ภาคี ได้ร่วมกันประกาศปฏิญญา 5 ข้อ เพื่อลดปัญหาข่าวลวงดังนี้
-
ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือและรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม
-
ส่งเสริมและสนับสนุนการผลักดันนโยบายในการต่อต้านข่าวลวงในระดับประเทศและเกิดการขับเคลื่อนงานด้าน การต่อต้านข่าวลวง ทั้งในระดับสังคม ชุมชน และประเทศชาติ
-
ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้เกิดการศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ ด้านการต่อต้านข่าวลวง รวมทั้งหาแนวทางปฏิบัติต้นแบบ (Best Practice) เพื่อให้เกิดฐานความรู้และแนวทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดพลังความรู้ของสังคม
-
พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงาน และนวัตกรรมตลอดจนเครื่องมือหรือกลไกเฝ้าระวังเพื่อใช้ในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาข่าวลวงอย่าง มีส่วนร่วม ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อ
-
ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy: MIDL) ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง และพัฒนาประชาชนในประเทศไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)
"การลงนามและประกาศปฏิญญาถือเป็นความร่วมมือที่จะเสริมพลังและสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันของภาคีเครือข่าย เพื่อขยายผลองค์ความรู้ ด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อให้กับประชาชน ให้มีความรู้เท่าทันและมีส่วนร่วม ในการพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ภายใต้ ระบบนิเวศสื่อที่ดี" วสันต์ กล่าวทิ้งท้าย