‘สนามเด็กเล่น’ สุดครีเอทีฟดึงวัยเยาว์ขยับร่างกาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"การเล่น" ถือเป็นกิจกรรมทางกายสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายและลดสภาวะเนือยนิ่ง จากสภาวะปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ติดเกม โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องพฤติกรรมและสุขภาพตามมา โดยเฉพาะโรคอ้วนที่เป็นบ่อเกิดไปสู่โรคร้ายต่างๆ กลุ่ม NCDs เมื่อเติบโตขึ้น ดังนั้นหากมีการส่งเสริมการเล่นอย่างสร้างสรรค์ และยิ่งได้นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์เข้าไปสนับสนุน ก็เชื่อว่าจะดึงเด็กไทยออกจากหน้าจอเพื่อให้กลับมามีสุขภาวะดีขึ้นได้
ล่าสุดมีการเปิดตัว "สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ" ที่บ้านพักตำรวจน้ำ ชุมชนมัสยิดฮารูณ ซอยเจริญกรุง 36 กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกันพัฒนา 3 ต้นแบบสนามเด็กเล่นของเด็กช่วงอายุระหว่าง 6-14 ปี ที่เหมาะสำหรับชุมชนย่านเจริญกรุง ภายใต้การดำเนินโครงการออกแบบพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนและแนวทางสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการ Active Play
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. บอกถึงความสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กว่า ปัจจุบันเด็กไทยกำลังเผชิญภาวการณ์มีพฤติกรรมทางกายน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 60 นาทีต่อวัน โดยปัจจุบันเด็กไทยมีพฤติกรรมทางกายประมาณ 23 นาทีต่อวันเท่านั้น หากไม่เร่งส่งเสริมการเคลื่อนไหวของเด็กตั้งแต่ยังเล็ก อาจเกิดผลทั้งด้านสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในอนาคตได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ หรือขาดทักษะการเข้าสังคม โดยกิจกรรมทางกายจะช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นภูมิคุ้มกัน ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยนั้นเกิดจากการได้เล่นน้อย ไม่ว่าจะในบ้านหรือชุมชน ประกอบกับในสังคมปัจจุบันที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กหันมาเล่นโทรศัพท์ แท็บเล็ต ทำให้เกิดภาวะติดจอมากขึ้นด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรสนับสนุนและจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ลูกหลานได้เล่นอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวถึงความร่วมมือว่า TCDC เข้ามาร่วมพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาเด็กติดจอและมีพฤติกรรมทางกายไม่เพียงพอ (ภาวะเนือยนิ่ง) ด้วยการศึกษาวิเคราะห์ออกแบบเครื่องมือเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กเกิดความรู้สึกสนใจ มีพลังในการเล่น สนุกต่อสิ่งต่างๆ ที่แฝงด้วยการปลูกฝังการแบ่งปันและความสามัคคี
สำหรับโครงการ active play วันนี้แสดงให้เห็นว่าได้เกิดผลการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม จาก 3 ต้นแบบสนามเด็กเล่นในชุมชน คือ ข้อ 1 โคเพลย์อิ้ง เพลย์กราวด์ (Co-Playing playground) การปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้เอื้อต่อการเล่นร่วมกันของเด็กและเยาวชนในชุมชน
ข้อ 2 แอคทีฟเลิร์นนิงเพลย์กราวด์ (Active Learning Playground) การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ของครูผู้สอนที่เหมาะสมในแต่ละวิชา และ ข้อ 3 เฮาส์โฮลด์ แฮ็ก (Household Hack) การประยุกต์ใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ที่ทำให้เรื่องงานบ้านกลายเป็นการเล่นที่สนุกสนาน ซึ่งทั้ง 3 นวัตกรรมนี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อสนับสนุนวิถีการดำเนินชีวิตที่จะส่งเสริมให้เด็กไทยได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป้าหมายสู่การพัฒนาผลงานและขยายผลไปยังโรงเรียนและชุมชนต่อไป
ด้าน อาจารย์ขวัญ พงษ์หาญยุทธ นักออกแบบอิสระและนักวิจัยอิสระ เล่าถึงแนวความคิดการออกแบบไว้ว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเราพบปัจจัยใน 3 บริบท คือ 1.บ้านเป็นสถานที่ที่มีอัตราการขยับตัวน้อยที่สุด และไม่ค่อยเหมาะกับการเล่นของเด็กในลักษณะ active หรือต้องออกแรงมาก งานออกแบบจึงมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง จูงใจให้เด็กขยับร่างกายจากการทำงานบ้านให้กลายเป็นเรื่องสนุก เช่น ไม้กวาดไดรฟ์กอล์ฟ การกระตุ้นกล้ามเนื้อแขนผ่านการกวาดลูกกอล์ฟลงหลุมบนที่ตักขยะ
2.โรงเรียน เราพบว่ามีโอกาสพัฒนาสื่อการสอนที่เอื้อให้เด็กได้เรียนและเล่นไปพร้อมกัน ซึ่งจะส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้มากกว่าการนั่งปกติ เช่น สวมเสื้อแก้โจทย์คณิต ที่ออกแบบให้มีช่องพลาสติกใสใส่คำตอบหรือโจทย์ และ 3.ชุมชน พบว่าไม่มีการสนับสนุนจากชุมชน ไม่มีพื้นที่ที่ชัดเจน เด็กเล่นตามถนน เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายและอุบัติเหตุ เช่น บ้านไม้ของเล่น ที่ถูกแบ่งเป็นโซนต่างๆ ทั้งโซนวิ่งออกกำลังกายแบบวงล้อ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อขาและการทรงตัว โซนชู้ตบาสเกตบอลให้ลงห่วง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อแขน โดยออกแบบมาใน 2 ระดับความสูง เพื่อรองรับทั้งการเล่นสำหรับเด็กเล็กและเด็กโต
"สำหรับนักออกแบบมีความตั้งใจอยากให้โรงเรียนและชุมชนอื่นๆ เห็นแล้วสนใจ เกิดการดัดแปลงนำไปใช้จริง ซึ่งความจริงแล้วอุปกรณ์ที่ใช้ไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง เพราะเป้าหมายในการทำโครงการนี้คือ ขอแค่ทุกคนมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เด็กได้เคลื่อนไหวมากขึ้นจริงๆ" นักออกแบบอิสระทิ้งท้ายความคิด
ทางด้านโรงเรียนวัดสวนพลู เป็นหนึ่งในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่จะมีการนำผลงานไปใช้ นางน้ำค้าง กรณีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสวนพลู สำนักงานเขตบางรัก เล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนอยู่ในพื้นที่ของวัดสวนพลู โรงเรียนไม่มีสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นให้เด็ก มีเพียงลานเล็กๆ ที่เด็กใช้กระโดดเชือก เล่นฮูลาฮูป เป่ายิ้งฉุบ ในการเรียนการสอนเราจึงต้องเพิ่มกิจกรรมที่ให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น เช่น ให้เด็กร้องเพลงก่อนเข้าสู่บทเรียน เปลี่ยนออกไปเรียนที่ลานโล่ง รวมถึงสอนให้เด็กเคลื่อนไหวตามเกมตาราง 9 ช่อง เป็นต้น เพราะแม้โรงเรียนจะเป็นสถานที่ให้ความรู้ แต่ก็จะไม่ยัดเยียดการเรียนการสอนอย่างเดียว ต้องให้เด็กได้ผ่อนคลาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ เพื่อที่เขาจะได้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี เมื่อเขาไม่เครียด สมองก็จะเปิดรับและจดจำการเรียนได้ดีขึ้น
ด้านคุณแม่ที่ส่งเสริมให้ลูกออกมาเล่น อย่าง คุณแม่ชนิดา สุวีรานนท์ คุณแม่น้องเรไร น้องก้อนเมฆ และน้องสายลม จากเพจเรไรรายวัน แชร์ประสบการณ์ว่า เรารู้ว่าเด็กต้องการการเคลื่อนไหวและเล่นสนุก ด้วยความที่บ้านไม่มีพื้นที่เพียงพอ หากจะชวนลูกทั้ง 3 คนเล่นที่บ้านแม่ก็ต้องหากิจกรรมมาเล่น ซึ่งจะควบคุมเด็กวัยซุกซนได้ยากมาก เราเลยลองพาลูกๆ ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ทั้งสนามเด็กเล่น สวนสัตว์ สวนสาธารณะ มันทำให้รู้ว่าพอพาเขาออกมานอกพื้นที่ ไม่ต้องพยายามกระตุ้นเขาเลย เด็กๆ จะสนใจและอยากเล่นด้วยธรรมชาติของวัยเขาอยู่แล้ว
ทำให้แม่สังเกตได้ว่าเด็กๆ จะชอบสนามเด็กเล่นที่สุด ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จึงจะพาพวกลูกๆ ออกไปเล่น เพราะเด็กจะได้เรียนรู้ร่างกายตัวเอง อย่างการแกว่งชิงช้า จะรู้เลยว่าต้องออกแรงกับอวัยวะส่วนไหนเพื่อให้ชิงช้าไกวไปข้างหน้าได้ เด็กๆ จะตื่นเต้นและสนุกกันมาก ที่บ้านจึงไม่กังวลว่าลูกจะติดหน้าจอ เพราะแม่จะทำให้เขารู้ว่าโลกภายนอกมีอะไรที่สนุกมากกว่าหน้าจอโทรศัพท์ ที่สำคัญแม่มักย้ำกับเขาเสมอว่า "เวลาเรียนเรียนให้เต็มที่ เวลาเล่นเราก็จะเล่นให้เต็มที่ เพราะยิ่งเล่นก็ยิ่งได้เรียนรู้"
เห็นความสำคัญของการเล่นกันแล้ว ผู้ใหญ่อย่างเราจึงไม่ควรนิ่งดูดาย และรีบออกมาส่งเสริมให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายเพื่อการพัฒนาสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ
สำหรับผู้สนใจสามารถชมการนำเสนอผลงานได้ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 Bangkok Design Week 2018 www.bangkokdesignweek.com, www.facebook.com/bangkokdesignweek