ศูนย์ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศไทย ปฏิบัติการแก้ปัญหาภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

แม้ว่าประเทศไทยจะเคยประสบกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่มาแล้วหลายครั้ง แต่ความรุนแรงและความเสียหายของวิกฤตในปี 2554 นับว่ารุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ โดยสร้างความเสียหายกว่า 6 ล้านครัวเรือน ใน 26 จังหวัด ซึ่งประมาณการณ์กันว่ามีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 6 แสนล้านบาททีเดียว

ศูนย์ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศไทย ปฏิบัติการแก้ปัญหาภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

แน่นอนว่า หลังจากมหาอุทกภัยได้ผ่านพ้นไป ภารกิจใหญ่ที่จะต้องรีบทำตามมาคือ การฟื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ชุมชน และองค์กรธุรกิจ เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน ช่วยเหลือ และฟื้นฟูประเทศไทยให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา และที่ปรึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (csr club) และสถาบันเชนจ์ ฟิวชัน ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศไทย” ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์จัดเก็บข้อมูลพื้นที่ภัยพิบัติ และข้อมูลของผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการจับคู่ที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการ เกิดเป็นความร่วมมือกันของเครือข่ายต่างๆ ในการทำงานสนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางจัดเก็บข้อมูลและปฏิบัติการฟื้นฟูประเทศไทยหลังเกิดพิบัติภัยต่างๆ เพราะว่าการฟื้นฟูนั้นต้องทำในหลายมิติ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง ชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพทำมาหากิน รวมไปถึงการเยียวยาจิตใจอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมต่างๆ จนเกิดการต่อยอด และขยายผล เพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดในรอบต่อไปให้ดีขึ้น จนกระทั่งทำให้สังคมไทยอยู่เย็นเป็นสุข สามารถจัดการกับภัยพิบัติรุนแรงต่างๆ ได้”นายไพบูลย์กล่าว

ศ.ดร.ธนิต ธงทองศ.ดร.ธนิต ธงทอง รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ในฐานะเป็นเสาหลักของแผ่นดิน และสถาบันการศึกษาที่มุ่งทำงานเชิงรุก ที่มีความพร้อมทั้งด้านศาสตร์ความรู้ และบุคลากร ในการสรรหาพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ นอกเหนือจากการให้สถานที่จัดตั้ง ศูนย์ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศไทย

ด้าน นายไกลก้อง ไวทยาการ รองผู้อำนวยการสถาบันเชนจ์ ฟิวชัน (change fusion) ได้กล่าวแนะนำเว็บไซต์ของศูนย์ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศไทย ที่ชื่อ www.thairecovery.org ว่า เป็นเว็บไซต์ที่ใช้รวบรวมข้อมูลความเสียหายของพื้นที่ประสบภัยในระดับตำบล โดยใช้ข้อมูลจากเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ของ สสส. และข้อมูลหน่วยงานที่เข้าไปทำโครงการฟื้นฟูในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ได้ทราบปัญหาและจับคู่ความต้องการได้ถูกต้อง

นายไกลก้อง ไวทยาการ

“อีกเว็บไซต์หนึ่งคือ www.infoaid.org เป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลสาธารณะ ที่รวบรวมข้อมูลของพื้นที่ประสบภัย จากการกรอกแบบสำรวจขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) แต่ละพื้นที่ ใน 4 ด้าน คือ 1.ความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 2.ด้านสุขภาพ เช่น ความเจ็บป่วย โรคระบาดต่างๆ 3.สภาพแวดล้อม ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน และ 4. ด้านเศรษฐกิจ เช่น พื้นที่การเกษตรที่เสียหาย เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ระดับความรุนแรงของปัญหา นำไปสู่การบริหารจัดการความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ และเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อๆ ไป” นายไกลก้อง กล่าว

การฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่หากต้องหลอมรวมแรงกายแรงใจจากทุกภาคส่วน ประสานพลังร่วมกัน พลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้จงได้ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต

เรื่องโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน teamcontent www.thaihealth.or.th
 

Shares:
QR Code :
QR Code