วิธีเอาตัวรอดเมื่อต้องเจอกับภัยพิบัติ
เมื่อเร็วๆ นี้ ข่าวที่สร้างความสะเทือนใจให้กับชาวโลก คงหนีไม่พ้นเรื่องของเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น ขณะที่ในเวลาเพียงไม่นาน เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พม่ารับรู้ได้ถึงเมืองไทย โดยเฉพาะแถบภาคเหนือ ยิ่งสร้างความวิตกมายังพี่น้องชาวไทยทั้งประเทศ ต่างตื่นตัวกับกระแสข่าวนี้ บ้างก็ว่าเป็นเหตุที่ต่อเนื่องจากสึนามิที่ญี่ปุ่น บ้างก็ว่าเป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน จนเลยไปถึงเรื่องทางโหราศาสตร์ก็ไม่ปาน ด้วยเหตุผลต่างๆ นานากับกระแสข่าวต่างๆ ที่พรั่งพรูออกมาไม่ขาดสาย ได้สร้างความวิตกกังวลยิ่งนักกับคนไทยที่ไม่ได้พบเหตุการณ์แบบนี้บ่อยเท่าที่ควร ยิ่งเรื่องของแผ่นดินไหวแล้ว ถือว่าน้อยมาก คนไทยเองก็ไม่มีการเตรียมพร้อมหรือการเรียนรู้รับมือกับสิ่งเหล่านี้
ขณะเดียวกันหลังกระแสแผ่นดินไหวยังทันไม่จบ ภัยน้ำท่วม ดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคใต้ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายรายก็กลับเป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจอีกครั้ง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยต้องรับรู้และเตรียมพร้อมรับมือ เอาตัวรอดให้เป็นเมื่อต้องเจอกับภัยพิบัติ
นายชาติชาย ไทยกล้า ผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิงและกู้ภัยชั้นสูง ทาฟต้าแนะนำวิธีการรับมือเมื่อต้องตกอยู่กับเหตุภัยพิบัติต่างๆ เอาไว้ว่า สิ่งแรกที่ต้องทำ คือเรื่องของการเตรียมความพร้อม เมื่อทราบข่าวว่าพื้นที่อยู่อาศัยของตนเองต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ต้องรู้จักการเตรียมการ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้ง อย่างน้อยควรเตรียมพร้อมไว้ประมาณ 3 วัน , จัดเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ ใส่ซองแพ็คให้เรียบร้อย นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือเรื่องของที่ตั้งของหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล เทศบาลตำบลที่อยู่ใกล้เคียงในพื้นที่ เพื่อขอเข้ารับการช่วยเหลือหรือประสานงานต่างๆ และอีกสิ่งที่มิอาจลืมได้คือการเตรียมความพร้อมเรื่องของจุดนัดพบของบ้าน ของครอบครัวว่าเราจะใช้จุดใดของบ้าน หรือสถานที่ใดเป็นจุดกึ่งกลางที่จะนัดพบกันเมื่อต้องหลีกหนีสถานการณ์นั้นๆ
ขณะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของโรคทางเดินอาหาร ตาแดง น้ำกัดเท้า อย่างเรื่องของน้ำกัดเท้าถ้าที่บ้านมีวาสลีน พาราฟิน ยาหม่องก็เลือกชโลมให้ทั่วขากรณีที่น้ำท่วมถึงหัวเข่า เพื่อป้องกันน้ำกัดเท้าได้ และที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงกระแสไฟฟ้าโดยเด็ดขาด แม้ในบางครั้งน้ำท่วมเฉพาะด้านล่าง แต่ก็ต้องอาศัยความระมัดระวังให้มาก และหลังน้ำลดแล้วควรให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบเรื่องของกระแสไฟฟ้า เตาแก๊สว่าพร้อมใช้งานได้หรือไม่
อาจารย์ชาติชาย ยังบอกอีกว่า สิ่งสำคัญที่รองลงมาคือเรื่องของการทำงานร่วมกับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่ อบต.ต้องผนึกกำลังกันเตรียมความพร้อมในทุกเรื่อง จัดเตรียมเครื่องมือสื่อสารที่ต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน เช่น สัญญาณไซเรน เสียงตามสาย ตีเกาะเคาะระฆังต่างๆ เพราะอย่าไปคาดหวังเรื่องของสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าในพื้นที่อาจใช้การไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีบางสิ่งที่ทุกคนอาจลืมไป คือการเขียนแผนของบ้าน ซึ่งอาจารย์ชาติชายบอกว่าสิ่งนี้ถือเป็นจุดด้อยของบ้านเรา เพราะเมื่อเกิดเหตุทีก็ปล่อยไปตามเหตุการณ์เหมือนงานวัด การเขียนแผนของบ้านเป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ไม่ใช่เพียงเฉพาะเหตุน้ำท่วม แต่อาจรวมไปถึงภัยพิบัติต่างๆ ทั้งแผ่นดินไหว ไฟไหม้ ตลอดจนในภาวะสงคราม
“สิ่งสำคัญผมว่าคือการให้ความรู้ต่อประชาชน เพราะภัยพิบัตินั้นไม่ใช่เพียงเรื่องของน้ำท่วม แผ่นดินไหวเพียงเท่านั้น แต่การเตรียมพร้อมเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้กลับกรณีที่เกิดสงครามได้เช่นกัน และไม่ว่าคุณจะเจอปัญหาน้ำท่วม หรือแผ่นดินไหวก็ใช้รูปแบบการเตรียมความพร้อมแบบเดียวกัน อย่างเรื่องของการเตรียมอาหารอย่างน้อยคิดไว้เลย 3วันเพราะต้องมองไว้ว่าช่วงนั้นจะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปาใช้ แล้วการสื่อสารก็อย่าไปคาดหวังเรื่องของโทรศัพท์มือถือ ให้คาดหวังเรื่องของสัญญาณไซเรน เสียงตามสาย ตีเกาะเคาะระฆังดีกว่า”อาจารย์ชาติชาย กล่าว
อย่างที่อาจารย์ได้บอกไปแล้วข้างต้นว่าวิธีการรับมือที่ว่ามานั้นใช้ได้กับในกรณีภัยพิบัติอื่นๆ เช่นกัน อย่างเหตุแผ่นดินไหวที่อาจจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนอยู่บ้าง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ อาจารย์ชาติชายบอกว่าอย่าตกใจ พยายามตั้งสติให้มาก หาที่กำบัง อาจหลบใต้โต๊ะที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงการไปอยู่ใกล้บริเวณที่คาดว่ามีสิ่งของตกใส่ได้ง่าย ส่วนกรณีที่ติดอยู่ในลิฟท์ คงไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากการติดต่อกับคนภายนอกด้วยสัญญาณที่อยู่ในลิฟท์ สิ่งสำคัญก็เช่นเดียวกันคืออย่าตกใจ
หันมาที่เรื่องของเหล่าบรรดาถุงยังชีพที่เป็นสิ่งสำคัญคู่กันกับภัยพิบัติ อย่างที่ทราบดีว่าในถุงยังชีพต้องมีสิ่งสำคัญเหล่านี้คือ ข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค เทียนไข แบตเตอรี่ นกหวีด ไฟฉาย และที่อาจารย์ชาติชายแนะนำอีกสิ่งสำคัญ ที่เราอาจไม่คาดคิดคือ “วิทยุทรานซิสเตอร์ที่เปลี่ยนถ่านได้” อาจารย์บอกว่ามีไว้เพื่อรับฟังข่าวสารจากบ้านเมืองว่าจะมีคนเข้ามาช่วยเหลือพื้นที่ที่เราประสบภัยได้หรือไม่ และยังเป็นการติดตามสภาพดินฟ้าอากาศในช่วงนั้นเพื่อพร้อมรับมือกับมัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้น้อยคนนักที่จะนึกถึง
จริงๆ แล้วประสบการณ์จากการเกิดภัยพิบัติในทุกครั้งที่ผ่านมา คือบทเรียนที่สอนให้เรารู้ ให้เราคิดได้มากมายว่าเราควรทำอะไร และเราต้องพร้อมอย่างไร แต่เรื่องแบบนี้บ้านเรายังขาดความรู้และการตื่นตัวที่ดีพอหรือไม่ บางเรื่องเราอาจไม่คาดคิด ถ้าไม่พบเจอกับตัวเอง อยากให้ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนชีวิตอันล้ำค่าที่ไม่ควรลืม สิ่งสำคัญคือเราต้องอยู่รอดให้ได้กับทุกภาวการณ์ มีสติพร้อมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th