ยกระดับบัณฑิตยุคใหม่ตอบโจทย์ `อาหารสุขภาพ`
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สยามรัฐ
เพื่อตอบสนองตลาดและตอบโจทย์เทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะกระแสอาหารอินทรีย์และการบริโภคเพื่อสุขภาพที่กำลังมาแรงเติบโตสูง และได้รับความสนใจทั่วโลก
มูลนิธิสังคมสุขใจ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2562-2567) เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพบัณฑิตยุคใหม่ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดการวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้ห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ของประเทศ การบูรณาการองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนระบบการวิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป การตลาด และลดช่องว่างระหว่างภาคการผลิตและผู้บริโภคให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งและคุณค่าอาหารปลอดภัยได้มากขึ้น
พิธีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมูลนิธิสังคมสุขใจ โดย คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิสังคมสุขใจ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดย รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สจล. ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา
โดยความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้คือ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างบัณฑิตยุคใหม่ที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถและทักษะตรงกับความต้องการของธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยทางสามพรานโมเดลจะได้รับนักศึกษาของ สจล. มาฝึกงานภาคฤดูร้อน หรือสหกิจศึกษาด้วย
นอกจากนี้ยังจะมีการทำงานร่วมกันของทีมสามพรานโมเดล และคณาจารย์ในคณะต่าง ๆ เริ่มจากคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อพัฒนางานวิจัย ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเป็นธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงจะมีการนำผลงานวิจัยต่าง ๆ ไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่จริงเพื่อสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และทั้งสองสถาบันยังจะได้ผสานความร่วมมือและความเชี่ยวชาญ เพื่อให้บริการวิชาการ เผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ชุมชนและสังคมทั้งในรูปแบบของการวิจัย การจัดหลักสูตรอบรม สัมมนา และการให้บริการวิชาการต่าง ๆ
นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า จากประสบการณ์กว่า 8 ปีในการขับเคลื่อนสามพรานโมเดลเพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล ภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. ทางมูลนิธิได้มีการทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วน เพื่อยกระดับห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงมั่นใจว่าจากองค์ความรู้และจากการทำงานขับเคลื่อนที่ยังคงมีความเข้มข้นและต่อเนื่องนี้ จะทำให้นักศึกษาและคณาจารย์ของ สจล.สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีและประสบการณ์จากการลงพื้นที่ปฏิบัติจริงที่นำไปสู่การต่อยอดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและผล กระทบที่ดีทั้งห่วงโซ่อาหารอินทรีย์
"โจทย์สำคัญของการขับเคลื่อนระบบอาหารอินทรีย์ คือ การสร้างคน การบริหารจัดการความรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ จากการทำงานกับทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ภายใต้กรอบ Social Movement Marketing ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การลงพื้นที่จริงเพื่อลงมือทำจริง และการแชร์เส้นทางของการเรียนรู้ทั้ง 4 ส่วนนี้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ภายใต้สามพรานโมเดล อะคาเดมี่ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่ เราจึงมีความพร้อมและยินดีที่จะได้ร่วมกับคณาจารย์ของ สจล. เพื่อบูรณาการความรู้และความเชี่ยวชาญสู่การพัฒนาคนทั้งห่วงโซ่ ตลอดจนยินดีที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ให้งานขับเคลื่อนระบบอาหารสมดุลมีความรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทุกคนในห่วงโซ่ได้รับประโยชน์" นายอรุษกล่าว
รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีช่องว่างของคุณภาพคนกับความต้องการของตลาดอยู่มาก ดังนั้นรูปธรรมที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นทันทีจากความร่วมมือในครั้งนี้คือ การยกระดับคุณภาพบัณฑิต ซึ่งจากจุดแข็งของ สจล.ที่เน้นสร้างบัณฑิตแฮนด์ออน คือ เป็นบัณฑิตที่มีความครบเครื่องทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เป็นคนคิดเป็นทำเป็นใส่ใจสังคม สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต มีทักษะด้านความรู้ทางวิชาการ และทักษะที่จำเป็นในการทำงานควบคู่กัน จากความร่วมมือของสามพรานโมเดลที่จะเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานอยู่ในพื้นที่จริงจะทำให้นักศึกษาได้รู้ความต้องการของตนเอง มีความรอบรู้ มีความเชี่ยวชาญในด้านปฏิบัติ เมื่อจบแล้วก็สามารถทำงานได้เลย
"ผมมั่นใจว่า จากความร่วมมือครั้งนี้เราจะสามารถผลิตบุคลากรที่สามารถตอบโจทย์กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกด้านสุขภาพและอาหารอินทรีย์ รวมถึงสังคมและความต้องการของตลาดได้ตามที่ตั้งใจไว้"
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อิทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากความร่วมมือนี้ยังจะนำไปสู่การบริการวิชาการสู่สังคม ซึ่งจะได้หารือกับทางมูลนิธิสังคมสุขใจ เพื่อจัดทำหลักสูตรและการอบรมระยะสั้น เพื่อให้คนในที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ได้มีโอกาสมาเพิ่มเติม ยกระดับและเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ ด้วย