มูลนิธิเพื่อนหญิงชงแก้ กม.2ฉบับ
ต่อสู้เพื่อลดความรุนแรงในผู้หญิงและเด็ก
มูลนิธิเพื่อนหญิงชงแก้ กม. 2 ฉบับ ชี้สามีนอกใจมีเมียน้อย เป็นสาเหตุให้ครอบครัวแตกแยก เป็นความรุนแรงทางจิตใจ พร้อมตั้งเป้าผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองทางกฎหมาย ด้าน ผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวระบุทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันสอดส่องดูแลอย่างจริงจัง
(2 ก.พ.) ห้องปรินซ์บอลรูม โรงแรมปรินซ์พาเลส : มูลนิธิเพื่อนหญิง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานประชุมและแถลงข่าว “บูรณาการกฎหมาย หยุดเหล้า…หยุดทำร้ายครอบครัว” เตรียมเสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ให้ถือว่าการมีเมียน้อยเป็นความรุนแรงทางจิตใจ ต้องได้รับการคุ้มครอง พร้อมกับเสนอบทลงโทษผู้พบเหตุรุนแรงแต่ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ให้ถูกตัดสิทธิการรักษาพยาบาล
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อนหญิงได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือปีละ 1,500 ราย เป็นเหตุความรุนแรงในครอบครัว 70 % ในจำนวนนี้นอกเหนือจากความรุนแรงทางร่างกายที่พบเห็นอยู่เสมอแล้ว เกือบ 50 % เป็นความรุนแรงทางจิตใจที่เกิดจากสามีนอกใจ มีเมียน้อย ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ครอบครัวแตกแยก โดยในรอบปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ ช่วยผู้หญิงต่อสู้อย่างมากเพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่าการมีเมียน้อยเป็นความรุนแรงทางจิตใจ ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองทางกฎหมาย
นายจะเด็จ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้มูลนิธิจะเตรียมหารือเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 5 ที่กำหนดให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งเดิมไม่มีการลงโทษ มีผลให้มีผู้เพิกเฉยจำนวนมาก โดยจะเสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.นี้ด้วยการตัดสิทธิบางอย่างแก่ผู้ไม่ทำหน้าที่แจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว เช่น ตัดสิทธิการรักษาพยาบาล เป็นต้น รวมทั้งเสนอให้รื้อกฎหมายอาญา มาตรา 276 เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ที่มีข้อจำกัดไม่คุ้มครองผู้ถูกข่มขืนอายุเกิน 18 ปีด้วย
“พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 บังคับใช้มาแล้ว 1 ปี กระทรวงยุติธรรมรายงานว่ามีผู้เข้ากระบวนการตามกฎหมายทั่วประเทศเพียง 54 กรณี เนื่องจากตำรวจซึ่งเป็นกลไกรับแจ้งเหตุยังมีทัศนคติมองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว อีกทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังมีการประชาสัมพันธ์กฎหมายน้อย กลไกการตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายและการกำหนดแนวปฏิบัติล่าช้ามาก รวมทั้ง สื่อมีทัศนคติเดิมๆในการเสนอภาพข่าวผู้หญิงที่ถูกทำร้าย เข้าข่ายลักษณะกระทำซ้ำ และสื่อละคร บิลบอร์ดโฆษณาที่กระทำต่อผู้หญิงเหมือนวัตถุทางเพศ ซึ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็กและคนในครอบครัว จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ร่วมกันทำงานและกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ” นายจะเด็จกล่าว
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยลดความรุนแรงในสังคม โดยเฉพาะการจำกัดพื้นที่ดื่มและสถานที่ขาย โดยจากการทำวิจัย เรื่อง ผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พบว่า 70-80% ของกลุ่มตัวอย่างเพศชายที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีประสบการณ์ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กโดยการทุบตีทำร้าย ข่มขืนกระทำชำเราบุคคลในครอบครัว
ด้านนายศุภกฤษ์ หงส์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การนำพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาบังคับใช้ในพื้นที่ต่างๆนั้นก็เพื่อต้องการให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ทั้งนี้จากการทำงานของมูลนิธิเพื่อนหญิง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้จัดทำชุมชนเลิกเหล้าลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กใน 10 จังหวัดนำร่องต้นแบบ ได้แก่ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ สมุทรปราการ ชุมพร ลำพูน สุรินทร์ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ อีกทั้งต้องยอมรับว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดบทเรียนในด้านที่ดีมากมาย เกิดความร่วมมือในการประสานงานส่งต่อ การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรง จะเห็นได้ชัดว่ามีการบูรณาการเกิดขึ้นร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรเครือข่าย ชุมชน และสังคม แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องทำมากที่สุดคือการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ผลงานยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี รวมทั้งให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในการสอดส่องดูแลควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มต่อต้านการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชนด้วย
เรื่องโดย : วีรญาน์ จันทร์นวล team content www.thaihealth.or.th
update 12-02-52