ผู้หญิงวัยทำงาน 1 คน ดูแลคนในครอบครัวอีก 2 คน

ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์ Local Press Release 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ผู้หญิงวัยทำงาน 1 คน ดูแลคนในครอบครัวอีก 2 คน thaihealth


นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลวิจัย พบผู้หญิงวัยทำงานเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพระดับครัวเรือน ย้ำความต้องการข้อมูลด้านสุขภาพ สสส.แนะให้หน่วยงานด้านสุขภาพช่วยกันสร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์ที่ถูกต้อง ชัดเจน เข้าใจง่าย


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย เผยผลการสำรวจผู้หญิงวัยทำงาน อายุ 15-60 ปี จำนวน 1,074 คน พบว่า ผู้หญิงวัยทำงาน 1 คนมีบทบาทในการดูแลสุขภาพของคนรอบข้าง 2.2 คนโดยเฉลี่ย ซึ่ง ร้อยละ 34.9 ของผู้หญิงวัยทำงานดูแลแม่ของตนเอง ร้อยละ 31.7 ดูแลลูก และร้อยละ 30.4 ดูแลสามี


ผู้หญิงวัยทำงานร้อยละ 91.5 เข้าถึงไลน์ เฟซบุ๊ก และยูทูป ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ ทุกวัน และรับทราบข้อมูลสุขภาพผ่านช่องทางดังกล่าว เนื้อหาที่ผู้หญิงวัยทำงานต้องการ ได้แก่ การใช้เวลากับครอบครัว การให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ การเป็นพ่อแม่ที่ดี การช่วยเหลือสังคม การส่งเสริมการมีน้ำใจ การให้คำแนะนำ การให้กำลังใจ การออมเงิน การเพิ่มรายได้ด้วยอาชีพเสริม การประหยัดค่าใช้จ่าย การพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมคนพิการ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าผู้หญิงวัยทำงานนอกจากจะต้องการดูแลสุขภาวะของตนเองและบุคคลในครอบครัวแล้ว ยังมีความสนใจและต้องการข้อมูลที่จะใช้ในการดูแลสุขภาวะของบุคคลอื่นๆ ในสังคม ตลอดจนสภาพแวดล้อมอีกด้วย


นอกจากนี้ หัวหน้าโครงการวิจัยยังเพิ่มอีกว่า จากการรวบรวมข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยเครื่องมือ Zocial Eye เป็นระยะเวลา 90 วัน (ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2561) จำนวน 1.6 ล้านข้อความ พบว่า ผู้หญิงแสดงการมีส่วนร่วมมากกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยร้อยละ 23.5 โดยทำการกดไลค์แสดงความคิดเห็นและแชร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความสุขของครอบครัว เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ การพัฒนาความสุขจากภายในจิตใจ อันดับ 3 คือการผ่อนคลายความเครียด คิดเป็นร้อยละ 71.1, 66.3 และ 66.4 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ชายจะกดไลค์แสดงความคิดเห็นและแชร์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสังคม เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ การบริหารจัดการเงิน อันดับ 3 การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดเป็นร้อยละ 47.9, 43.8 และ 40.1 ตามลำดับ


คุณหมอชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้ชี้ชัดเจนว่าการส่งเสริมความรู้ทางสุขภาพให้ผู้หญิงจะทำให้การส่งเสริมสุขภาพในองค์กร หรือ Happy Workplace บรรลุเป้าหมายได้ เพราะผู้หญิงในองค์กรภาครัฐ เอกชน โรงงาน และสถานประกอบการล้วนเป็นผู้ที่ศักยภาพในการจัดการข้อมูลสุขภาพ ตั้งแต่การค้นหา กลั่นกรอง นำไปใช้ประโยชน์ และส่งต่อ ซึ่งต่อจากนี้จะเร่งให้หน่วยงานภาคีต่าง ๆ ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายผู้หญิง?วัยทำงานอย่างจริงจัง แนะให้ช่วยกันสร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์ที่ถูกต้อง ชัดเจน เข้าใจง่าย


ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า การส่งเสริมให้ผู้หญิงวัยทำงานมีความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องจะทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดูแลสุขภาพได้อย่างยั่งยืน


ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บทบาทของผู้หญิงไทยในการเป็นผู้นำมีมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จนมีคำที่ใช้ยกย่องบทบาทสตรีอยู่หลายคำ เช่น คำว่า "แม่บ้าน" ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและจัดการทุกอย่างในบ้าน รวมถึงเรื่องสุขภาพของสมาชิกที่อยู่ในบ้าน ซึ่งตอนนี้ก็ขยายไปถึงสมาชิกในองค์กร เพราะหน่วยงานต่างๆ มีผู้หญิงทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นบทบาทของผู้หญิงในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ และบทบาทการเป็นผู้ส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงานก็เป็นบทบาทหนึ่งของผู้หญิงซึ่งมีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมด้านสุขภาพได้อย่างมาก


อนึ่ง การศึกษาวิจัยนี้มูลนิธิสถาบันพัฒนาการเรียนรู้และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ดำเนินโครงการภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Shares:
QR Code :
QR Code