ปั้นเชียงใหม่เมืองท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ผ่าน ‘สามพรานโมเดล’
ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก เป็นพื้นที่เป้าหมายในการเดินหน้าโครงการ "ท่องเที่ยวอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล" หรือ "ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม" เพราะมีความตื่นตัวเรื่องการบริโภคอินทรีย์ คนใส่ใจดูแลสุขภาพ มากขึ้น
เห็นได้จากกาดผักอินทรีย์เกิดขึ้นหลายแห่งในตัวเมืองเชียงใหม่ มีตลาดออร์แกนิกชิก ๆ ที่สายคลีนต้องไปเดินจับจ่ายซื้อของ ส่วนอาหารมังสวิรัติอร่อย ๆ เชียงใหม่ก็ฮอต ถือเป็นโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลง ยกระดับเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยววิถีอินทรีย์
สำหรับโครงการออร์แกนิก ทัวริซึ่ม ชักชวนผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าในเชียงใหม่ มาร่วมเป็นเครือข่าย โดยใช้สามพรานโมเดลเป็นเครื่องมือ สร้างระบบอาหารให้สมดุลทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และผู้บริโภคที่เป็นปลายน้ำ หัวเรือใหญ่คือ บริษัท แล็บ อาหารที่ยั่งยืน ประเทศไทย (ฟู๊ดแล็บ) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยผู้บริหาร ฝ่ายจัดซื้อ และส่วนงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่มาเรียนรู้ทำความเข้าใจเกษตรกรอินทรีย์ มีการเชื่อมโยงสั่งซื้อผักสะอาดตรงจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การประสานงานของมูลนิธิสังคมสุขใจ
เวลานี้มีต้นแบบโรงแรมร้านอาหารในเชียงใหม่ที่สนใจเรื่องอาหารอินทรีย์ร่วมขับเคลื่อน อาทิ โรงแรมแทมมาริน โรงแรมรายาเฮอริเทจรีสอร์ท โรงแรม 137 พิลล่าร์เฮาส์ โรงแรมครอสทู ร้านอาหารอิ่มเอม ฯลฯ เพื่อขยายผลและต่อยอดให้เกิดรูปธรรมมากขึ้น นำมาสู่การจัดกิจกรรม "Tour De Farm สืบจากจานเมนูอินทรีย์นี้มาจากไหน" พาคณะสื่อมวลชนและผู้บริโภคไปเรียนรู้วิถีอินทรีย์ที่โรงแรมรายาเฮอริเทจรีสอร์ท, ร้านอาหารอิ่มเอม มีจุดขายชูความเป็นธรรมชาติของวัตถุดิบ ผ่านการแปรรูปน้อย ไม่ใส่ผงชูรส ใช้น้ำมันน้อย ถ้ากินแล้วไม่ชอบ ไม่ต้องจ่ายเงิน รวมถึงเข้าพบปราชญ์ชาวบ้านชื่อดัง โจน จันได ผู้ยืนหยัดวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่สวนพันพรรณ อ.แม่แตง
อรุษ นวราช ผู้ร่วมก่อตั้งฟู๊ดแล็บ และเลขาฯ มูลนิธิ สังคมสุขใจ
อรุษ นวราช ผู้ร่วมก่อตั้งฟู๊ดแล็บ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า เป้าหมายการขับเคลื่อนท่องเที่ยวอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล ภาคธุรกิจต้องร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยสร้างระบบอาหารปลอดภัย เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช้สารเคมี เพราะปัจจุบันในส่วนต้นน้ำ เกษตรกร 1 ใน 3 ของประเทศพึ่งพาสารเคมี ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แถมเป็นหนี้ เพราะชาวสวน ชาวนาตั้งราคาเองไม่ได้ เกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกหยุดสารเคมี และช่วยปลดหนี้ได้ โรงแรมในเชียงใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ เราชักชวนให้ซื้อตรงจากเกษตรกร ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่เอารัดเอาเปรียบ แล้วไม่ใช่เพียงซื้อขาย แต่เข้าใจ มีข้อตกลงร่วมกันว่า เป็นผลผลิตตามฤดูกาล จากนั้นโรงแรม-ร้านอาหารสร้างสรรค์เมนูออร์แกนิกเป็นจุดเชื่อมต่อชวนผู้บริโภคมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นี่คือกลยุทธ์ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม
"การมาขยายผลมาสู่เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยว มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เยอะ และทำงานร่วมกับกลุ่มเชียงใหม่ออร์แกนิก โรงแรมที่เข้าร่วมอุดมการณ์เปลี่ยนเมนูให้เป็นเมนูอินทรีย์ พานักท่องเที่ยวเยี่ยมชมแปลงเกษตรอินทรีย์ในโรงแรม มากกว่านั้นพาไปรู้จักเกษตรกรที่ส่งผักสะอาดให้ สร้างระบบอาหารสมดุลอินทรีย์ที่ให้คุณค่ามากกว่าบริโภค แต่ยกระดับห่วงโซ่อินทรีย์ทั้งระบบ ทั้งแทมมารีนและรายาเฮอริเทจเป็นโรงแรมต้นแบบ แล้วยังมีกลุ่มม่วนใจ๋เจียงดาวเป็นเกษตรกรต้นแบบ ก็ต้องถอดบทเรียนต่อเนื่อง แม้จะนำสามพรานโมเดลมาใช้ที่เชียงใหม่ แต่ภูมิสังคมต่างกัน เชียงใหม่เข้าถึงตลาดอินทรีย์ได้ง่ายกว่า สุดท้ายไม่มีสูตรตายตัว สำคัญที่ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง" เลขาฯ มูลนิธิสังคมสุขใจ เผย
เมนูออร์แกนิกชิก ๆ ร้านอิ่มเอม หนุนท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ที่เชียงใหม่
กระแสออร์แกนิกมาแรง ได้รับการยืนยันจาก อรช บุญ-หลง ประธานกลุ่มเชียงใหม่ออร์แกนิก ซึ่งร่วมโครงการฯ นักกิจกรรมหญิง บอกว่า เชียงใหม่มีตลาดอินทรีย์เปิดบริการทุกวัน การเข้าถึงระดับครัวเรือนไม่มีปัญหา แต่ระดับผู้ประกอบการยังยากอยู่ ต้องเชื่อมเครือข่าย ปูทางให้โรงแรม ร้านอาหารพบเกษตรกรตัวจริง ที่ยากที่สุด เปลี่ยนความสนใจของเชฟ และจุดประกายให้เห็นคุณค่าของวัตถุดิบพืชผักพื้นบาน ซึ่งไม่มีตลอดปี นำมาปรุงอาหารในวิธีที่เชฟถนัด มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้ผักหวาน ผักเชียงดา ผักขี้หูด เห็ด ดอกไม้ต่าง ๆ ชวนผู้บริโภคและเกษตรกรมาชิม นอกจากเป็นจุดขาย ยังสร้างสุขภาพที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ที่ผ่านมา สร้างความรู้ความเข้าใจในระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ผ่านกิจกรรมเชียงใหม่ออร์แกนิกเชฟเทเบิลภายใต้แนวคิด 'ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม' อนาคตจะขยายกลุ่มผู้บริโภค เมนูออร์แกนิกมีเนื้อสัตว์ได้ และมีโปรเจ็กต์ที่เชียงดาวทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ 200 ไร่ โดยกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ และจัดกิจกรรมเทศกาลอินทรีย์ชวนมาเที่ยวด้วย
โรงแรมออร์แกนิกเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ณภัทร นุสติ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมรายาเฮอริเทจ และแทมมาริน วิลเลจ กล่าวว่า โรงแรมมีวิสัยทัศน์สร้างความยั่งยืนทั้งสังคม ชุมชน พนักงาน ควบคู่ธุรกิจ เมื่อได้เรียนรู้สามพรานโมเดลกลับมาทดลองทำ หลายอย่างต้องประยุกต์ เพราะบริบทไม่เหมือนกัน เริ่มจากนำความรู้เกษตรอินทรีย์มาเผยแพร่ให้พนักงานทั้งในร้านอาหาร ครัวโรงแรม เริ่มกระบวนการสั่งซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอินทรีย์ สามพรานโมเดลกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายนี้
"แม้จะมีข้อจำกัดผลผลิตตามฤดูกาล ไม่สม่ำเสมอ การทำงานวิถีอินทรีย์ไม่ได้ราบรื่น แต่โรงแรมปรับกลยุทธ์ให้ทำงานร่วมกับเกษตรกรได้ ถอยคนละก้าว ที่แทมมารีนเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ปัจจุบันเพิ่มสั่งซื้อพืชผักอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรอีก 10 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มอีก ส่วนที่รายาเฮอริเทจใช้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ปรุงอาหารให้ลูกค้ากว่า 80% ทั้งสั่งซื้อและใช้ผักจากแปลงอินทรีย์ที่ทำขึ้น เชฟออกแบบเมนูตามฤดูกาล พนักงานที่ทำเกษตรอยู่แล้วได้แรงบันดาลใจปรับจากเคมีเป็นอินทรีย์ ปีนี้มีแผนจะเชื่อมกับบ้านพนักงานและชุมชนใกล้เคียง ป้อนผลผลิตให้โรงแรมด้วย" ณภัทรย้ำในฐานะต้นแบบจะขยายเครือข่ายกับโรงแรมที่สนใจ สร้างจุดกระเพื่อมเปลี่ยนแปลงสังคม
โจน จันได พาผู้บริโภคชมแปลงผักที่สวนพันพรรณ
เส้นทางค้นหาวิถีอินทรีย์ช่วงท้ายพามาสวนพันพรรณ โจน จันได ปราชญ์ชาวบ้าน บอกว่า แรกเริ่มทำบ้านดิน เมื่อองค์ความรู้กระจายแล้วก็หยุด และทำเรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์ และแจกจ่ายให้มากที่สุด เพราะเมล็ดพันธุ์สูญหายไปจากโลกทุกวัน เป็นเรื่องน่ากลัวหากเสียความมั่นคงทางอาหาร มีคนจำนวนมากมาเรียนรู้การทำเกษตรปลอดสารเคมีและไม่อยากกลับ กลายเป็นชุมชน ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการอยู่ง่าย เป็นมหาวิทยาลัย 15 ปีที่ผ่านมา คน 20 คนอยู่ร่วมกันโดยไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว ไม่มีผู้นำ ไม่มีกฎระเบียบ เมื่อไม่มีกฎระเบียบคนใช้สามัญสำนึกมากขึ้น
"ชีวิตที่สวนพันพรรณ เรียนรู้การปลูกผัก ปลูกฝังให้เป็นอินทรีย์จากข้างใน เกษตรของเราคือการพัฒนาดิน มีความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดการพึ่งพากัน และคนปลูกต้องกินอิ่มก่อน ไม่ใช่ปลูกเพื่อขาย จากนั้นเก็บพันธุ์แท้ปลูกต่อได้ ถ้าให้ผลเหมือนเดิมแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ อนาคตจะไปสู่การพัฒนาพันธุ์ด้วย เน้นพืชสวน เพราะคนทำน้อย ที่นี่เป็นศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์จากทั่วโลก พันธุ์ที่นิยม จะหายเร็ว บริษัททุนทุ่มพัฒนาพันธุ์ ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก และไม่ปลูกพันธุ์พื้นบ้านแท้ ๆ ปลูก กิน ใช้ เก็บ เป็นองค์ความรู้ในการรักษาชนิดพันธุ์และภูมิปัญญาการกินอยู่ไว้ ส่วนโครงการออร์แกนิกทัวริซึ่มที่กำลังขับเคลื่อนกันจะสร้างระบบอาหารที่สมดุล" โจน จันได กล่าว ก่อนพาชมในแปลงห้องเรียนอินทรีย์กลางแจ้งอย่างสนุกและได้รับความสนใจมาก