บุกสตช. ยื่นพ.ร.บ.ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
มูลนิธิเพื่อนหญิงชี้ตร.ยังไม่เข้าใจ
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ห้องรับรองสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับเครือข่ายชุมชน กทม.เลิกเหล้ายุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี กว่า 80 คน ได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องเนื่องในโอกาสเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ต่อ พล.ต.ท พงศพัส พงษ์เจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมทั้งติดริบบิ้นสีขาวสัญลักษณ์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่
นายจะเด็จ เชาว์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า หลังจากที่ออกกฎหมายบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ส่งผลให้ตำรวจต้องเข้ามามีบทบาทที่จะบังคับใช้กฎหมายนี้ แต่ปัจจุบันตำรวจไม่ค่อยรับทราบถึงกฎหมายข้อนี้ ยังมองในทัศนคติแบบเดิม ๆ คือ มองว่าเป็นปัญหาในครองครัว เป็นเรื่องส่วนตัว อีกทั้งยังไม่รับแจ้งความ ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
“อย่างกรณีที่สามีทุบตีภรรยาแทบทุกวัน ตำรวจไม่รับแจ้งความ ทำให้ภรรยาบางคนทนไม่ไหวที่ถูกทุบตี ทำให้เกิดการฆาตกรรมตามมาได้ ถ้าเกิดกฎหมายมีการบังคับใช้ มีความเป็นกลาง ปัญหานี้ก็จะลดลง” นายจะเด็จ กล่าว
นายจะเด็จ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เรียกร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็คือ อยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยแพร่ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ให้แก่ทุกสถานีตำรวจในประเทศไทย พร้อมทั้งกำชับการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วย และให้ตำรวจในทุกพื้นที่ร่วมกันประสานความร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนและองค์กรภาคประชาชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และสร้างเครือข่ายเชิงบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน พล.ต.ท พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อไปดำเนินการอย่างเร่งด่วน และตำรวจจำเป็นต้องทำงานเชิงลุกมากขึ้น คือต้องไปเยี่ยม พบปะ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้น และที่สำคัญไม่ควรรอให้มาแจ้งความ เป็นเรื่องที่ตำรวจต้องคอยสอดส่องดูแล เพราะเรามีเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นตำรวจชุมชนหรือมวลชนสัมพันธ์
นางเกสร ศรีอุทิศ แกนนำเครือข่ายชุมชน กทม. เลิกเหล้ายุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี กล่าวว่า เราได้สำรวจชุมชนใน กทม. 22 ชุมชน จำนวน 1,150 ตัวอย่าง พบว่า ผลกระทบจากเหล้าที่เกิดกับคนในชุมชนยังคงเป็นความรุนแรงในครอบครัวอันดับหนึ่ง 24.66% ตามด้วยปัญหาการทะเลาะวิวาท 20.90% และการส่งเสียงดังรบกวน 15.64% แสดงว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในชุมชน กทม.มีเหล้าเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ อย่างไรก็ตามกฎหมายคุ้มครองผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว บังคับใช่มากกว่า 2 ปีแล้ว แต่การเผยแพร่กฎหมายยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เราพบว่าผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้บางส่วนบอกว่า เพิ่งทราบว่ามีกฎหมาย เมื่อแนะนำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวไปแจ้งความ เราก็ต้องนำพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูด้วย ในโอกาสเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก จึงอยากให้ตำรวจบังคับใช่กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ข่าวโดย : อภิชัย วรสิทธิ์ขจร team content www.thaihealth.or.th
update 17-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อภิชัย วรสิทธิ์ขจร