นานาชาติร่วมหารือคนไทยลดพฤติกรรม ‘ชีวิตติดเค็ม’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพโดย สสส.


นานาชาติร่วมหารือคนไทยลดพฤติกรรม 'ชีวิตติดเค็ม' thaihealth


แต่ละปีประเทศเรายังคงต้อง สูญเสียรายจ่ายทางสุขภาพกว่า 99,000 ล้านบาท ให้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพียงเพราะสาเหตุสำคัญคือคนไทย ทั้งประเทศรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มที่เกินพอดี จนป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้นกว่า 15% ต่อปี และมีผู้ป่วย เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นถึง 1,500,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี


ในการจัดประชุม เรื่อง 'แนวทางลดพฤติกรรมติดเค็มของคนไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (ประเทศไทย) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จึงเป็นหารือการเพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกับสื่อมวลชน เพื่อสื่อสารสังคมลดพฤติกรรมติดเค็ม ช่วยลดสาเหตุความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง


ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ให้ข้อมูลว่า คนไทยติดเค็มเพราะวัฒนธรรมการกินที่เปลี่ยนไปและการออกกำลังกายที่น้อยลง ขณะที่อาหารยอดนิยมของทุกภูมิภาคมีปริมาณโซเดียมสูง   ซึ่งจากงานวิจัยการสร้างฐานข้อมูลวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสอาหารท้องถิ่น โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เครื่องปรุงเป็นแหล่งโซเดียมหลักของภาคอีสาน คือ น้ำปลา ส่วนภูมิภาคอื่นจะใช้เกลือเป็นเครื่องปรุงรสเค็มเป็นหลัก   ขณะที่เครื่องปรุงรสประจำถิ่นเช่น ปลาร้า  มีโซเดียมเฉลี่ย 4,000 – 6,000 มิลลิกรัม/ 100 กรัม กะปิมีโซเดียม 500 มิลลิกรัม/1 ช้อนชา และบูดูมีโซเดียมเฉลี่ย 8,047.25 มิลลิกรัม/100 กรัม   นอกจากนี้อาหารสำเร็จรูปได้ถูกจัดเป็นอาหารที่ทุกภาคนิยม โดยอาหารสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมสูงสุดคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  มีโซเดียมเฉลี่ย 1,275 มิลลิกรัม/1 ซอง (50 กรัม) รองลงมาคือ โจ๊กคัพขนาด 35 กรัม ที่มีโซเดียมเฉลี่ยถึง 1,269 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เกินกว่าที่เด็กควรได้รับต่อวัน


นานาชาติร่วมหารือคนไทยลดพฤติกรรม 'ชีวิตติดเค็ม' thaihealth


ดังนั้นนโยบายการเก็บภาษีโซเดียมจึงเป็นมาตรการที่ใช้กับภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรอาหารเพื่อลดโซเดียมจากต้นทาง   โดยการเก็บภาษีจะขึ้นลงตามปริมาณ   หากโซเดียมสูงผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีในราคาที่สูง และจะเน้นการเก็บภาษีเฉพาะอาหารที่เพิ่มรสชาติโดยไม่จำเป็น   เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กสำเร็จรูป มันฝรั่งทอดกรอบ เป็นต้น   และจะไม่เก็บภาษีในส่วนปัจจัยพื้นฐานของประชาชน เช่น น้ำปลาเกลือ ซีอิ๊ว จึงไม่กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน   ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ ไปพร้อมกัน


นานาชาติร่วมหารือคนไทยลดพฤติกรรม 'ชีวิตติดเค็ม' thaihealth


"ฮังการี" เป็นประเทศที่สามารถลดการบริโภคเค็มของคนในประเทศได้ถึง 20%-35% ซึ่ง   ดร.เรณู การ์ก หัวหน้าฝ่ายโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย   เผยว่า   ฮังการีคือตัวอย่างมาตรการลดเค็มที่สำเร็จในต่างประเทศ จากการใช้มาตรการเก็บภาษีเค็มในขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส ในปี 2554   ขณะที่สหราชอาณาจักรก็ให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างเข้มข้น เช่น ติดตามควบคุมกำกับการรณรงค์ สร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมในการปรับลดสูตรอาหาร ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมของประชากรลดลง 15%   จะเห็นได้ว่าการออกมาตรการบังคับมีส่วนช่วยให้การบริโภคเค็มลดลง ซึ่งอยากให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพื่อหนุนให้การดำเนินงานได้ประสิทธิภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย


นานาชาติร่วมหารือคนไทยลดพฤติกรรม 'ชีวิตติดเค็ม' thaihealth


มาที่   ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.   กล่าวว่า สสส. มองว่าการแก้ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมควรให้ความสำคัญที่การจัดการเชิงแวดล้อมตามแนวทาง Social Determinants of Health หรือปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ โดยขับเคลื่อนด้วยพลังวิชาการ นโยบาย และพลังสังคม จึงสามารถหนุนเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักและนำไปสู่การปรับพฤติกรรมได้   โดยล่าสุด สสส. ได้จัดแคมเปญ Less Spoon : ช้อน ปรุง ลด ร่วมกับทาง CJ WORX ทำสื่อนำเสนอเพื่อให้คนไทยตระหนักถึงการปรุงด้วยเกลือ และน้ำปลา โดยจัดทำเป็นช้อนที่มีรูตรงกลาง แต่ตักได้แค่เฉพาะปลายช้อน ซึ่งตรงตามปริมาณที่ควรบริโภค ทำให้เกิดภาพจำของปริมาณเกลือและน้ำปลาในช้อนของผู้บริโภค ซึ่งมีประชาชนหลายคนเข้ามาสอบถามขอซื้อช้อนดังกล่าว อีกด้วย แสดงให้เห็นว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง


"สำหรับการลดพฤติกรรมติดเค็มสำหรับประชาชน สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วย 3 ลดคือ   1.ลดการเติม   โดยเฉพาะ การเติมเครื่องปรุง   2.ลดการกินน้ำปรุง   เช่น น้ำส้มตำ น้ำยำ น้ำแกง และ   3.ลดการกินอาหารแปรรูป   เช่น ไส้กรอก ไตปลา ปลาร้า พริกแกง และกะปิ เพราะในแต่ละวันคนไทยควรบริโภคโซเดียมเทียบเท่ากับเกลือไม่เกิน 1/3 ช้อนชาต่อมื้อ หรือน้ำปลาไม่เกิน 2/3 ช้อนชาต่อมื้อ" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว


นานาชาติร่วมหารือคนไทยลดพฤติกรรม 'ชีวิตติดเค็ม' thaihealth


ปิดท้ายด้วย   ดีใจ ดีดีดี หรือ 'ผัดไทย' ดารานักแสดงที่มาแชร์ประสบการณ์ของการบริโภคเค็ม   ว่า   จุดเริ่มต้นของการกินเค็มเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กเพราะเติบโตมาในร้านขายของชำ ทำให้กินขนมจุกจิกได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และใช้ชีวิตติดเค็มจนถึงตอนโต กลายเป็นความเคยชินโดยไม่รู้ตัวเพราะคิดแค่เพียงว่า "กินแล้วอร่อย" จนถึงช่วงอายุ 27 ปี มีภาวะไตอักเสบเฉียบพลัน แต่ไม่ได้ใส่ใจดูแลตนเองนำไปสู่การเป็นโรคไต โดยในปัจจุบันคุณภาพไตอยู่ที่ 16% ซึ่งหากต่ำกว่า 10% จะต้องมีการฟอกไตหรือเปลี่ยนไต   ทำให้ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการเสื่อมของไตด้วยการลดการบริโภคเค็ม ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย แม้ว่าในช่วงระยะแรกจะรู้สึกไม่ชินกับรสชาติ แต่พอทำอย่างต่อเนื่องร่างกายก็เกิดการปรับได้


"ความอร่อยเป็นเพียงความสุขชั่วขณะ หากเรากินอย่างพอดีก็จะไม่เกิดโทษ แต่ถ้ากินมากเกินไปสิ่งที่ตามมาก็จะส่งผลต่อร่างกาย ดังนั้นปรับพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ก่อนจะสายเกินไป" ดีใจ ฝากทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code