คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนมีนาคม 2566)
การกินอาหารนับเป็นหนึ่งในพฤติกรรม
ที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนเรามากที่สุด
สุขภาพเกี่ยวพันกับอาหารในหลายมิติเหลือเกิน
ไม่ว่าจะเป็นในด้านความปลอดภัยของอาหาร จากพิษภัยในเนื้ออาหารเอง สารพิษและเชื้อโรคติดค้างในอาหาร พิษภัยจากการกินดิบหรือการปรุง การผลิตการเก็บรักษา การถนอมอาหาร ฯลฯ
ในด้านการได้รับอาหารที่ขาดพร่องหรือล้นเกิน จนมีภาวะทุพโภชนาการ ผอม แคระ เตี้ย หรืออ้วน จนนำไปสู่ร่างกายที่ทรุดโทรมและโรคภัยนานาชนิด
ในด้านชนิดและปริมาณของสารอาหารที่ร่างกายได้รับ การเพียงได้รับอาหารครบทุกหมู่ไม่เพียงพอ ยังควรต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสม สมดุลอีกด้วย
ในด้านวิถีการกิน เช่น จำนวนมื้ออาหารต่อวัน เวลาที่กิน การเคี้ยวที่เพียงพอการกินอาหารรสจัด ฯลฯ
หรือกระทั่งในด้านมิติทางสังคมวัฒนธรรมของอาหาร เช่น การเลือกกินอาหารที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ
ที่สำคัญ ในบรรดาพฤติกรรมที่ต้องชวนกันปรับเปลี่ยนเพื่อการมีสุขภาพดีพฤติกรรมการกินอาหารนับเป็นเรื่องหนึ่งที่ชวนเปลี่ยนแปลงกันได้ยากที่สุดเพราะผูกพันกับสังคมของมนุษย์มาตั้งแต่แรกเกิด และอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างแนบแน่น
หนึ่งในประเด็นย่อยของภาพรวมของอาหารกับสุขภาพข้างต้นที่อยากจะชวนคุยกันในวันนี้ ก็คือเรื่อง “การกินเค็ม”
ในเดือนมีนาคมของทุกปี มีวันสำคัญทางสุขภาพ คือ “วันไตโลก” เพื่อจะย้ำเตือนความสำคัญของการดูแลรักษาไต ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพราะ “โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” เป็นโรคที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งในแง่สุขภาพและความมั่นคงของครอบครัว ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการบริโภคโซเดียมในปริมาณสูงเกินไปอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก ที่นำมาซึ่งอัตราการเสียชีวิตหลักของคนในโลกนี้ รวมทั้งไทยนำหน้าโรคติดเชื้อทุกชนิดรวมกันมาหลายทศวรรษแล้ว สาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มล้นเกิน โดยเฉพาะบริโภคโซเดียมที่คนไทยบริโภคเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ถึงเกือบ 2 เท่าตัว จากที่ไม่ควรรับประทานเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
การบริโภคโซเดียมเกินอย่างยาวนาน ส่งผลต่อเนื่องไปถึงระบบความดันโลหิต หัวใจ ไต ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมถึงกว่า 22 ล้านคน ทั้งโรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 7.5 แสนคน โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายเกือบแสนราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ต้องล้างไตหลายหมื่นราย ขณะที่ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคไตวายถึงปีละ 1.4 ล้านคน
นั่นเป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญของการ “ลดเค็ม”
โดยเบื้องต้น ต้องเข้าใจก่อนว่าความเค็ม หรือที่แท้คือการลด “โซเดียม” นั้น ไม่ได้มีอยู่แค่ในเกลือ แต่แฝงมากับอาหารสารพัดประเภท บางชนิดมีรสหวานด้วยซ้ำ
สสส. ออกมาตอกย้ำถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เริ่มต้นผ่านการรณรงค์ “ลดซด ลดปรุง ลดโรค” ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากส่งสารไปถึงประชาชนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568 ของสหประชาชาติ
สสส. สานพลังกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีสุขภาพต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมไปกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการลดการบริโภคโซเดียม อาทิ การปรับสูตรในอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหารริมทาง การสื่อสารผ่านฉลากในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และสร้างสภาพแวดล้อมในที่ต่าง ๆ ให้พร้อมใจกันลดเค็ม ลดโซเดียมลง รวมถึงการเสนอภาษีความเค็มที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของกระทรวงการคลัง เพื่อมุ่งลดผลกระทบต่อสุขภาวะในระยะยาวจากปัจจัยเสี่ยงตัวนี้
ยังมีอีกหลายมิติของอาหารต่อสุขภาพที่กล่าวถึงตอนต้น ที่ยังต้องช่วยกันขยายการเรียนรู้ และร่วมขับเคลื่อนกันต่อไป