คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนกุมภาพันธ์ 2566)
“ความรัก” แม้ไม่ได้เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ แต่คนเรามักขาดไม่ได้ “ความรัก” ไม่ใช่เพียงเรื่องของคนหนุ่มสาว แต่ทุกเพศ ทุกวัย ล้วนต้องการความรักเป็นสิ่งประกอบในการดำรงอยู่ และความรักก็ใกล้ชิดกับความสุข ความทุกข์ ของผู้คนในหลากหลายมิติ
และนั่น ทำให้ “วันวาเลนไทน์” ที่แม้จะมีต้นกำเนิดมาจากฐานวัฒนธรรมหนึ่ง ได้ถูกตีความ ถูกใช้เป็นวันสัญลักษณ์สำคัญในเรื่องความรักของผู้คนหลากหลายสังคม วัฒนธรรมทั่วโลก
วันวาเลนไทน์นี้ ฝั่งสุขภาพมักอาศัยเป็นช่วงเวลาของการสื่อสารประเด็นเรื่องสุขภาวะทางเพศ ซึ่ง สสส. เองก็ได้เริ่มงานด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2548 โดยเน้นการทำงานเชิงการพัฒนาให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิด ความเชื่อ โดยเริ่มพัฒนาภาคีเครือข่ายการทำงาน และงานด้านเพศวิถีในโรงเรียน ในชุมชนต้นแบบมาอย่างต่อเนื่อง
การทำงานช่วงแรก ชูประเด็นการขับเคลื่อนเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ จุดประกาย กระตุ้นให้สังคมเริ่มหันมามองปัญหาเหล่านี้ในมุมมองที่กว้างกว่าที่เคย เพราะความเชื่อ ความเข้าใจ ทัศนคติเรื่องสุขภาวะทางเพศ ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคล ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงปัญหาสังคมอย่างกว้างขวาง
ผลของการขับเคลื่อนของทุกฝ่าย ได้สะท้อนจากสถานการณ์การคลอดของวัยรุ่นไทยที่คลอดในช่วงที่ยังไม่พร้อม ได้ลดจากในช่วงปี 2554-2555 ที่สูงถึง 53.4 ต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน ลดลงมาเหลือ 28.7 ในปี 2563 แม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอายุที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์จะลดลง ซึ่งเป็นผลร่วมกับการเข้าถึงแพทย์ที่ดีขึ้น และการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติถูกทำอยู่บนความเชื่อว่า “เรื่องเพศคุยได้” ซึ่งต่างจากทัศนคติคนรุ่นก่อน ที่มักคิดว่า เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่จะพูดคุยกันได้อย่างทั่วไป การพูดไปก็เหมือนชี้โพรงให้กระรอก แต่ยุคปัจจุบัน เยาวชนเปรียบเสมือนกระรอกที่รู้ว่ามีโพรงที่ไหนบ้างแบบทุกซอกทุกมุมแบบติดจีพีเอส ด้วยเพราะการเปลี่ยนผ่านยุคเข้าสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้นต่อให้ไม่พูด เด็กก็รู้เรื่องนี้อยู่ดี
สสส. จึงถือเป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่ต้องทำความเข้าใจและใช้โอกาสนี้ เป็น “โอกาสทองที่จะคุยเรื่องเพศ” อย่างเข้าใจ เพราะแม้ว่าจะอยู่ในโลกดิจิทัลแล้ว เด็กก็อาจยังไม่สามารถกลั่นกรองได้ครบรอบด้านว่า สิ่งไหนเป็นเรื่องที่เหมาะ ไม่เหมาะกับบริบทสังคมต่าง ๆ โดยเฉพาะความเชื่อที่จะนำไปสู่การเจ็บป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเห็นได้จากอัตราการติดเชื้อซิฟิลิส ที่ยังคงพบอัตราการป่วยในเยาวชนสูง สอดคล้องกับอัตราการใช้ถุงยางอนามัยที่ต่ำ ซึ่งเราควรสร้างความเข้าใจว่าถุงยางอนามัยไม่ใช่เป็นแค่เพียงเครื่องมือคุมกำเนิด แต่เป็นเครื่องมือป้องกันโรค และเป็นสิ่งแสดงความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน
ในเทศกาลวันแห่งความรักนี้ ยังเป็นโอกาสทองที่จะสื่อสารมิติของสุขภาวะที่ยึดโยงกับความรักอีกหลากหลายมิติด้วย ทั้งความรักในครอบครัวที่จะเป็นสายสัมพันธ์ยึดโยงสถาบันพื้นฐานนี้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่แห่งความเข้าอกเข้าใจของสมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกวัย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีของยุคสมัย ที่กระตุ้นความแปลกแยก ถ่างความไม่เข้าใจกันและกันให้เกิดขึ้นได้ง่าย และถ่างช่องว่างทางสังคมให้ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน จนถึงเหลื่อมล้ำ ชิงชัง และแตกแยก
สร้างความรักเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะกันนะครับ