คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนตุลาคม 2565)
สวัสดีครับ เพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน
“โลกของการเรียนรู้หลักของคนเราแต่ดั้งแต่เดิมมา จะฝากไว้กับ “ระบบการศึกษา” ซึ่งจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาเอก ภายในสถานศึกษาเป็นหลัก คนที่จะมีการศึกษามากน้อย สูงต่ำ เชี่ยวชาญ ชำนาญการในวิชาการ วิชาชีพสาขาใดก็จะขึ้นกับหลักสูตร วิชา ครูอาจารย์ วันเวลาเรียน ฯลฯ ที่ผู้ใหญ่ยุคปัจจุบันคุ้นเคย
แต่โลกแห่งการเรียนรู้นี้ ได้หมุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จน “ระบบการศึกษา” ของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยด้วย ต้องพยายาม “ปฏิรูป” ระบบกลไกให้ก้าวตามให้ทัน ขณะที่วัฏจักรการปฏิรูปการศึกษาของเรายังหมุนวนหาหนทางขับเคลื่อนกันไปหลากหลายทิศทาง และนโยบายการเรียนรู้ใหม่ ๆ ของผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้ก้าว
เด็กและเยาวชนที่ยังอยู่ในวัยเรียนจำนวนมาก ใช้ช่องว่างนอกเหนือระบบการศึกษาเพื่อทำในสิ่งที่ชอบที่รัก ที่สนใจ โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การเรียนรู้ได้บังเกิดขึ้น ตั้งแต่เรียนรู้ตนเอง เพื่อน ภาษา ทักษะเฉพาะสังคมรอบข้าง ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อาชีพและการหารายได้ ฯลฯ แต่ละปีเด็ก ๆ มีวันว่างราว 150 วันจากระบบการศึกษา ที่อาจถูกมองว่า เป็นวันหยุดจากการศึกษาเรียนรู้ ได้พักผ่อน ซึ่งหลายคน หลายครอบครัว เห็นคุณค่าของวันหยุดเหล่านี้เพียงแค่นั้น ประกอบกับสภาพการแข่งขันทางการศึกษาในปัจจุบัน ทำให้เด็กจำนวนมากต้องใช้เวลาว่างนี้เพิ่มไปกับการเรียนพิเศษ
ในมุมมองของการเรียนรู้ ที่ไม่ได้ผูกขาดกับระบบหลักสูตร วิชาการที่ถูกวางมาตรฐานไว้ตายตัว เราอาจมอง “วันว่าง” “วันหยุด” “วันปิดเทอม” เหล่านี้เป็นช่วงเวลาแห่งอิสระของเด็กและเยาวชน ที่สามารถใช้เวลาว่างได้อย่างที่ใจต้องการ ไปทำกิจกรรมที่ตนเองชอบโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ สามารถสร้างการเรียนรู้ที่มีฐานของฉันทะและทักษะหลากหลายที่อาจจะมีพลังมหาศาล สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้เรียนรู้ได้มากมายกว่าการศึกษาในระบบด้วยซ้ำไป
สิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมควรช่วยกันทำคือ สนับสนุนการสร้างโอกาสที่หลากหลายและมากเพียงพอให้เด็กได้เข้าถึงกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่เขาเลือกได้อย่างไม่ยากลำบาก ช่วยสรรหากิจกรรมที่จะต่อเติมเสริมจินตนาการกระตุ้นความฝัน พลังความสร้างสรรค์ในตัวของเด็กเยาวชน
หลายปีมาแล้ว สสส. เข้ามาประสานภาคส่วนและองค์กรต่าง ๆ ภายใต้เวทีกลางที่เรียกว่า “ปิดเทอมสร้างสรรค์” นำกิจกรรมสำหรับเด็กเยาวชนที่จะใช้ในวันว่างปิดเทอม ไม่ว่าจะเป็นการออกค่าย การท่องเที่ยว การศึกษาคอร์สพิเศษ การบวชภาคฤดูร้อน การเข้าชมพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการการทำงานพาร์ตไทม์ทั้งหารายได้และเรียนรู้ตลาดงาน การฝึกสอนกีฬา การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ฯลฯ โดยใช้พื้นที่ออนไลน์ในการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้จัดกิจกรรมและเด็กเยาวชน
แต่ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของปิดเทอมสร้างสรรค์หยุดชะงักลงราวสองปีที่ผ่านมา ในปีนี้ที่การคุกคามจากโรคระบาดทุเลาลง ก็น่าจะได้เวลาแล้วที่เราจะกลับมาฟื้นฟูเวทีนี้ให้เด็ก ๆ จะได้กลับมาทำกิจกรรมวันว่างกันอีกครั้ง สสส. จึงสานต่อโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ happyschoolbreak.com ที่เยาวชนสามารถเข้าร่วมได้เพียงปลายนิ้วคลิก ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ได้ที่ เว็บไซต์ปิดเทอมสร้างสรรค์ https://happyschoolbreak.com/ หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/happyschoolbreak ซึ่งจะมีการรวบรวมกิจกรรมให้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สสส. ได้ร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ จัดให้มีกิจกรรมรณรงค์ให้สังคมตระหนักในความสำคัญของกิจกรรมวันหยุด วันว่าง และปิดเทอม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หนุนให้แต่ละจังหวัดสามารถสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเองได้ทันที แต่ละพื้นที่เด็กและเยาวชนอาจจะมีความต้องการแตกต่างกันออกไป
ปิดเทอมกลางช่วงนี้ และปิดเทอมใหญ่ต้นปีหน้า หรือกระทั่งวันหยุดประจำทุกสัปดาห์ สสส. อยากชวนให้ทุกองค์กร ทุกชุมชน ช่วยกันก้าวเข้าร่วมสร้างสรรค์เวทีแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็ก เยาวชนของเรานี้ด้วยกันครับ