คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนกันยายน 2565)

สวัสดีครับ เพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน

                         การปฏิบัติตนในสังคมของผู้คนในแต่ละสังคม ไม่ได้เพียงสะท้อนถึงกฎกติกา แนวทางที่ได้ถูกวางไว้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่านิยมขนบธรรมเนียม ที่ผู้คนในสังคมนั้นยอมรับและยึดถืออีกด้วย

                         ดังจะเห็นได้ว่ามีกฎ กติกา นโยบาย กระทั่งกฎหมายไม่น้อย ที่คนจำนวนมากไม่ได้ปฏิบัติตาม มีคนละเมิดฝ่าฝืนกฎหมายนั้นให้พบเห็นได้โจ่งแจ้งทั่วไป

                         กฎจราจรดูจะเป็นหนึ่งในกฎหมายไทยที่เราจะพบเห็นการละเมิดเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าเป็นการฝ่าไฟแดง การใช้ความเร็วเกินกำหนด การขับย้อนศร การไม่สวมหมวกกันน็อก ฯลฯ

                         ในบรรดาผู้ขับรถทางไกลบนท้องถนนไทย การกะพริบไฟหน้าเตือนผู้ขับรถสวนมา ให้ระวังว่าข้างหน้ามีตำรวจตั้งด่านจราจรคอยจับกุมอยู่นะ นับเป็นมารยาทของการใช้ถนนด้วยซ้ำไป

                         โดยเฉพาะเรื่องการข้ามทางม้าลายที่คนไทยจำนวนมากเวลาไปต่างประเทศที่มีการพัฒนา จะแปลกใจมากเวลาที่พบเห็นรถบนถนนโดยทั่วไปชะลอความเร็วจนจอดสนิทให้คนข้ามทางม้าลาย ขณะที่บ้านเรา ทางม้าลายแทบจะเป็นเพียงสัญลักษณ์เตือนคนขับรถให้ระวังเท่านั้น จะหยุดก็ได้ ไม่หยุดก็ได้ คนข้ามพึงระวังตนเอาเอง

                         จนเมื่อต้นปีนี้ เกิดข่าวใหญ่ “หมอกระต่าย” หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์ ขับขี่โดยตำรวจ ชนเสียชีวิตขณะกำลังข้ามทางม้าลาย

                         เหตุการณ์ดังกล่าว สั่นสะเทือนความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งจากการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอนาคตไกล ในเหตุที่เกิดบนทางม้าลายกลางกรุงเทพฯ สะท้อนถึงความเสี่ยงของผู้ใช้ถนน และการไม่เคารพกฎหมายที่อยู่ในจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนของไทย จนหลาย ๆ คน หลาย ๆ กลุ่มเริ่มส่งเสียงออกมาว่า เราจะให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นปกติสามัญต่อไปอีกหรือ?

                         จากข้อมูล 3 ฐานที่รวบรวม โดยกระทรวงสาธารณสุข 10 ปีย้อนหลัง พบการเสียชีวิตของคนเดินเท้าเฉลี่ยถึงราว 1,000 รายต่อปี โดยเกือบครึ่ง เป็นการก่อเหตุจากจักรยานยนต์ และ 1 ใน 3 เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ แม้แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้นกับหมอกระต่าย ทางม้าลายจุดเดิมก็เกือบเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอย และยังเกิดความสูญเสียตามมาอีกหลายครั้ง

                         เฉพาะเดือนเมษายน 2565 บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า มีผู้เสียชีวิตถึง 64 คน จากการเดินถนน โดยสาเหตุ 84% มาจากไม่มีทางข้ามที่ปลอดภัย ภายหลังจากเหตุการณ์ความสูญเสียหมอกระต่าย สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ ร่วมสำรวจทางข้าม 12 จุด พบข้อมูลน่าตกใจว่า 89% ไม่หยุดรถเมื่อมีคนมายืนรอเพื่อข้ามถนน มีเพียง 11% ที่หยุดรถ โดยรถจักรยานยนต์ไม่หยุดให้คนข้ามมากที่สุดถึง 92% คิดเป็นสัดส่วน 8% เท่านั้นที่หยุดรถให้คนข้าม

                         การหยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุนั้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องลงมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับปรุง บังคับใช้กฎหมาย ให้เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการจำกัดความเร็ว ช่องทางจราจร เปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างทางถนน และจัดทำป้ายสัญลักษณ์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้า และข้ามถนน

                         สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือ การใช้ทุกโอกาสสำคัญ ทุกแรงสะเทือนใจจากความสูญเสียที่ไม่สมควรบนท้องถนนมากระตุ้น รณรงค์ปรับจิตสำนึก และบรรทัดฐานของสังคม

                         สสส. ร่วมกับ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา และภาคีเครือข่ายทางม้าลายอีกหลายองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์ทุกวันที่ 21 ของทุกเดือน เพื่อระลึกการจากไปของหมอกระต่าย และสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน สร้างจิตสำนึกหวังให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงทางม้าลาย ลดความเร็วในเขตชุมชน ชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่รถจักรยานยนต์

                         อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นว่า การปฏิบัติตนในสังคมของผู้คนในแต่ละสังคม ไม่ได้เพียงสะท้อนถึงกฎ กติกา แนวทางที่ได้ถูกวางไว้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่านิยมขนบธรรมเนียม ที่ผู้คนยอมรับและยึดถืออีกด้วย

                         มาร่วมกันปรับเปลี่ยนเรื่องเล็กที่ยิ่งใหญ่ อย่างการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยกันครับ

Shares:
QR Code :
QR Code