คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนเมษายน 2567)
สวัสดีครับเพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน
“เมษายน” เดือนที่ร้อนจะระอุที่สุดของปี แต่ก็เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุข การเวียนกลับไปพบปะเจอะเจอกันของครอบครัว
เมื่อนึกถึงเทศกาลสงกรานต์ แทนที่จะนึกถึงบรรยากาศแห่งความสุข และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ทรงคุณค่า อย่างการรดน้ำดำหัว เพื่อคารวะผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย แต่ผมเชื่อว่าชาว สสส. และภาคีเครือข่ายต่างเป็นห่วงและกังวลใจ ถึงความสูญเสียจากการบาดเจ็บทางสมอง ความพิการ และการสูญเสียชีวิตของคนในครอบครัว
ด้วยบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการร่วมสร้างความปลอดภัยทางถนน ทำให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ของทุกปี รวมถึงตลอดทั้งปี พวกเราจึงพยายามทำงานอย่างหนัก และทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน อย่างเข้มข้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย รณรงค์ และสื่อสารสังคม ส่งข้อความไปถึงประชาชนถึงความห่วงใยนี้ โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดความสูญเสียนั้นลงได้
ข้อมูลภาระโรคของประเทศไทย หรือ BOD (Burden of diseases) ในปี 2562 พบว่า ปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการตายและความพิการจาก อุบัติเหตุจราจรของชายไทย (DALYs : Disability Adjusted Life Years) เท่ากับ 1.3 ล้านปีี และหญิงไทย เท่ากับ 4.9 แสนปี ซึ่งหมายถึง “คนหนุ่ม คนสาวจำนวนมากที่ต้องพิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากอุบัติเหตุ ทางถนน”
โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ความพยายามที่จะช่วยลดความสูญเสียจากการตายและความพิการในวัยหนุ่มสาว ยิ่งต้องพยายามอย่างเข้มข้นขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงสถิติอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566ที่ผ่านมา พบว่า ดื่มแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์และล้มเองสูงถึง 53% และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุไม่เกิน 5 กม.จากบ้านสูงถึง 56% และเสียชีวิตในเส้นทางที่ใช้ประจำสูงถึง 78% พฤติกรรมเสี่ยงมักเป็นการดื่มสุราสังสรรค์กับเพื่อนหรือญาติ แล้วมีการออกไปซื้อสุรา หรือเครื่องดื่มอื่นเพิ่มรวมถึงการเดินทางกลับบ้าน
ผมอยากจะเสนออีกวิธีการหนึ่ง คือ การมีบุคคลในครอบครัวช่วยเป็น “ตำรวจครอบครัว” น่าจะช่วยได้มาก หมายถึงทุกคนร่วมมือกันพิจารณาว่า คนในครอบครัวของเรา เช่น พ่อ ลุง พี่ชาย น้องชาย มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือช่วงอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เช่น เคยเกิดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับมาก่อน หรือมักจะออกไปสังสรรค์กับเพื่อน เป็นต้น
ถ้ามีบุคคลเสี่ยงในครอบครัว ก็ควรที่จะติดตามผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการอื่น ๆ เพื่อสอดส่องว่า ในช่วงเวลากลางคืน ญาติที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออุบัติเหตุอยู่ที่ไหนแล้วอาสาขับรถไปรับกลับบ้านแทนการปล่อยให้กลับเอง หรือปล่อยให้ไปซื้อน้ำแข็งหรือสุราเอง ทุกคนต้องช่วยกันปกป้องคนในครอบครัว เพื่อจะได้ไม่เกิดความสูญเสียของญาติมิตรของเราในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง
นอกจากนั้นแล้ว ในระยะยาว มีภาคีเครือข่ายของ สสส. พยายามจะปลูกฝังและสร้างจิตใต้สำนึกพลังบวก ในการลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ ผ่านครูปฐมวัยเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมากๆ
“ผมได้ไปสัมผัสความพยายามของทุกภาคีเครือข่ายที่จะช่วยกันทำให้ความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรลดลงให้ได้ เป็นความประทับใจในพลังแห่งความมุ่งมั่นและอุดมการณ์อันแรงกล้า ที่จะแก้ปัญหานี้”
มีผู้กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรในสังคมไทย คือ Never ending war กล่าวคือเป็นสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่ผมยังเชื่อและยังมีความหวังว่า เราทุกคนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายของ สสส. จะช่วยกันจบเรื่องนี้ได้ในรุ่นเรา
ผมในฐานะของผู้จัดการกองทุน สสส. ขอเป็นแนวร่วม และส่งกำลังใจ แรงสนับสนุนให้กับภาคีเครือข่าย เพื่อจะร่วมขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรนี้ไปด้วยกันครับ