คุยกับผู้จัดการ สสส. (เดือนมิถุนายน 2565)

สวัสดีครับ เพื่อนร่วมสร้างสุขทุกคน

       ในทศวรรษที่ 3 ของ สสส. ปัจจัยที่ถูกชี้ว่าส่งผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษหน้ามากที่สุด ก็คือเทคโนโลยีดิจิตอล ที่จะมาปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมของผู้คนอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งสุขภาวะ และทุกขภาวะแบบใหม่ ๆ ที่นักสร้างเสริมสุขภาพต้องเรียนรู้ที่จะรับมือ

        อย่างโลกยุคนี้ที่ถูกเชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกก็รับรู้ข่าวสาร และเชื่อมโยงกันอย่างง่ายดาย ข้อดีของอินเทอร์เน็ตนั้นมีมหาศาล แต่ในข้อดีก็มีด้านมืดอยู่เช่นกัน

     ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวงบนอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นรายวัน และเหยื่อเกิดขึ้นแทบทุกนาที รวมถึงการทำกิจการผิดกฎหมายต่าง ๆ ออนไลน์ อย่างบรรดาแก๊งคอลเซนเตอร์ บ่อนออนไลน์ หวยทิพย์ การขายบุหรี่ไฟฟ้า อาวุธปืน ฯลฯ ขณะที่การควบคุมก็ทำได้ยากขึ้นทุกที และการใช้พื้นที่ปฏิบัติการข้ามพรมแดนประเทศได้อย่างง่ายดาย

     การรู้เท่าทันการใช้สื่อและเทคโนโลยีเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

      นอกเหนือไปจากความเสียหายทางอาชญากรรม และเศรษฐกิจ ยังพบว่า ช่องทางใหม่เหล่านี้นำมาซึ่งการกลั่นแกล้ง การทำร้ายกันด้วยการสื่อสาร ที่เพิ่มทวีมากขึ้นด้วย

     ผู้คนยุกนี้เกือบทุกคนมีช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างน้อย 1-2 แพลตฟอร์ม ให้สื่อสารในเครือข่ายสังคมของตน และกระจายต่อสู่วงกว้างต่อ ๆ ไปเป็นระลอกคลื่นได้อย่างกว้างขวาง การกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ ที่เพิ่มความรุนแรงจากแค่ล้อเล่นกันขำ ๆ เพราะยิ่งไม่ได้พบกันซึ่งหน้า ไม่ได้มีตัวตนที่พิสูจน์ได้ ยิ่งพ่นคำร้าย ๆ Hate Speech ใส่กันแล้วแพร่ขยายไปสู่การรับรู้วงกว้าง จนทำให้เกิดผลกระทบต่างๆตามมาต่อผู้ถูกกระทำ

     การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือ Cyberbullying ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่กลายเป็นภัยใกล้ตัว และทำให้ผู้ที่โดนกระทำเกิดผลกระทบทางสุขภาพจิต ตั้งแต่ความเดือดร้อนรำคาญนอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร เป็นโรคซึมเศร้า หรือหากร้ายแรงก็ถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายได้

อย่างที่เราก็เพิ่งได้พบเห็น ข่าวการฆ่าตัวตายของเยาวชนหลายคนที่ถูกทำให้อับอายจากภาพลับ การถูกล้อเลียน หรือการถูกขู่แบล็กเมล์

     คำพูดที่เคยเห็นว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย เพื่อนหยอกล้อกัน ไม่เห็นเป็นไรเลย หรือเคืองขุ่นกันบ้างในวงแคบ ๆ เมื่อถูกขยายทวีคูณด้วยสื่อสังคมออนไลน์ ปัญหาและผลกระทบจึงทบทวีความรุนแรงจนอาจถึงจุดที่เกินจะคาดคิด

      สสส. เป็นอีกหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราขับเคลื่อนทั้งงานด้านวิชาการ และนโยบายกับภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ สร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและครอบครัว ซึ่งค้นพบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนจากการถูกกระทำบนโลกออนไลน์ได้ถึงเท่าตัว

      การเลี้ยงดูเด็กในยุคสังคมออนไลน์ ควรจะยิ่งให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิผู้อื่น การเข้าใจความหลากหลายของผู้คน มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ใช้ความก้าวร้าวรุนแรงในบ้าน โรงเรียน และในสื่อ ไม่มองการแกล้งกันเป็นเรื่องธรรมดา

มีงานวิจัยพบว่า เด็กที่ล้อแกล้งรังแกคนอื่นตั้งแต่วัยเด็ก จะสัมพันธ์กับการเป็นอาชญากรเมื่ออายุ 26 ปีสูงกว่าเด็กปกติถึง 8 เท่า

     ปัญหานี้ เป็นเหมือนกันทั่วทั้งโลก จึงมีการกำหนดให้มีวัน Stop Cyberbullying Day เพื่อเตือนให้ทุกคนหยุดการระรานบนโลกออนไลน์ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้เดือนมิถุนายนยังถือว่า เป็น Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) อีกด้วย ซึ่งเพศสภาพก็ถือเป็นอีกเรื่องที่นำไปสู่การ Cyberbullying เช่นกัน

การทำความเข้าใจในเรื่องเพศสภาพ ถือว่าปัจจุบันสังคมให้การยอมรับมากกกว่าอดีต แต่ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญจริงจัง เพราะหากสังคมไม่เข้าใจ ก็อาจจะกระทบกับสภาพสุขภาวะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะถูกกีดกันจากโอกาสที่สมควรจะได้รับ และเข้าถึงได้อย่างคนทั่วไป

      ประเด็นนี้ สสส. ก็ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดทำ คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ สื่อกลางการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจผู้ปกครองให้รู้จักวิธีดูแลเด็ก-เยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อร่วมสร้างความ
เข้มแข็งให้กับครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายเพศให้ตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ ซึ่งมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจในหลายมิติด้วยกัน

ที่สำคัญคือความแตกต่างไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้ใครก็ตามถูกกีดกันจากการมีสุขภาวะที่ดี

Shares:
QR Code :
QR Code