กองทัพไทยไม่หวั่น “รวมพลังสู่หวัด 2009”
เก็บข้อมูลกลุ่มเสี่ยง วิเคราะห์วันต่อวัน
คณะอนุกรรมการฯหวัด 2009 สสส. จับมือ กองทัพไทย 3 เหล่า “รวมพลังกองทัพไทย ต้านไข้หวัดใหญ่ 2009” เก็บทุกข้อมูลกลุ่มเสี่ยง วิเคราะห์วันต่อวัน ลั่นกำลังพล-ครอบครัว-ประชาชน ปลอดโรค กองทัพยิ่งมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 26 ส.ค.52 ที่ห้องบรรยายกองบัญชาการกองทัพอากาศ คณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกัน ควบคุม และการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกองทัพไทย 3 เหล่าทัพ กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงจัดงาน “รวมพลังกองทัพไทย ต้านไข้หวัดใหญ่ 2009” โดยมีผู้แทนและกำลังพลจากทุกเหล่าทัพเข้าร่วมกว่า 200 คน
โดย พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตและการดำเนินชีวิตของกำลังพลรวมถึงครอบครัว ทั้งยังสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและเศรษฐกิจของชาติ จึงขอประกาศให้ทุกหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกองทัพอากาศ ร่วมกันรณรงค์ป้องกัน ควบคุมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กำลังพล ครอบครัว และประชาชนพื้นที่ใกล้เคียงปลอดภัยจากโรคนี้ ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกทม.และในเขตปริมณฑลจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ในต่างจังหวัดถือว่ากำลังอยู่ในขั้นรุนแรง หลายโรงเรียนในหลายจังหวัดปิดการเรียนการสอนไปแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยตนมั่นใจว่าหากกระจายไปสู่ชนบทที่ขาดแคลนสิ่งสาธารณูปโภค เช่น น้ำ จะยิ่งเป็นปัญหาหนัก ซึ่งสสส.เองได้เร่งหาเจ้าภาพร่วม โดยเฉพาะเอกชน เพื่อมาทำงานร่วมกัน เพราะโรคที่กำลังเกิดขึ้นนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับการให้บริการแล้ว แต่มันจะเป็นเรื่องของพฤติกรรมการดูแลตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างไปแล้ว
นพ.มงคล กล่าวต่อว่า หน่วยงานทหารเป็นสถานที่ที่มีทหารกองประจำการอยู่รวมกันตลอดทั้งวัน ทำกิจกรรมร่วมกัน อยู่ใกล้ชิดกัน มีกำลังพลรวมกันกว่า 440,352 คน หากมีกำลังพลป่วย การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่ง สสส. จะสนับสนุนงบให้ 3 เหล่าทัพ ประมาณ 4 ล้าน 9 แสนบาท เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันไข้หวัด 2009 โดยมีแผนดำเนินงานใน 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มปกติ ที่จะเน้นการจัดกิจกรรมให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารต่อเนื่อง 2.กลุ่มเสี่ยงในหน่วยที่มีพลทหารกองประจำการ/นักเรียนทหาร อยู่รวมกันจำนวนมาก จะมีการตรวจคัดกรองวัดไข้ สอบถามอาการในช่วงเช้าของทุกวัน หากพบผู้มีอาการผิดปกติ จะแยกตัวเพื่อสังเกตอาการ หากวันที่ 2 อาการไม่ดีขึ้น จะนำส่งแพทย์ทันที
นพ.มงคล กล่าว กลุ่มที่ 3.กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีไข้ น้ำมูกไหล ต้องใส่หน้ากากอนามัย และให้หยุดปฏิบัติงานได้ 1 สัปดาห์ ไม่ถือเป็นวันลา แต่ต้องโทรศัพท์รายงานอาการให้ผู้บังคับบัญชารับทราบทุกวัน 4.กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ทุกหน่วยต้องคัดกรอง เพื่อให้ทราบจำนวนและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งมาที่ส่วนกลาง เพื่อให้ทราบสถานการณ์อยู่เสมอ ซึ่งมั่นใจว่าแม้จะเป็นโครงการะยะสั้นตั้งแต่เดือน ส.ค.-ธ.ค. นี้ แต่การที่กองทัพไทยให้ความสำคัญ และดำเนินการอย่างแข็งขัน จะป้องกันกำลังพลและประชาชน ให้ ปลอดภัยจากโรคร้ายได้
เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ team content www.thaihealth.or.th
update: 26-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่