‘ศูนย์ฝึกและอบรมเด็ก เยาวชน’ เลิกบุหรี่
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เด็กและเยาวชนไทยวันนี้เผชิญกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ทั้งการดื่มสุรา การพนัน บุหรี่ เรื่องเพศ รวมถึงปัญหายาเสพติดอื่นจำนวนมาก บุหรี่ส่งผลทำลายสุขภาพทั้งตัวผู้สูบเองและผู้ได้รับควันบุหรี่มือสอง สุราก่อปัญหาทั้งเศรษฐกิจความเดือดร้อนตามมาอีกมากมายมิได้ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังได้กระทบถึงเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเรือนจำ ซึ่งไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะได้รับโอกาสในการเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวเท่าที่ควร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงตระหนักถึงความสำคัญและมีเป้าหมายสำคัญที่ให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพที่ดีครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิตปัญญา และสังคม จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย และ รศ.ดร.ผ่องศรี ศรีมรกต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการ 'ศูนย์ฝึกเด็กและเยาวชนปลอดบุหรี่' ขึ้นตั้งแต่ปี2557
ข้อมูลจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน สังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยกระทรวงยุติธรรม พบว่า คดีที่เด็กและเยาวชนต้องโทษมากที่สุดได้แก่ คดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด โดยแบ่งเป็นยาบ้ายาไอซ์ กัญชา กระท่อม ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กเหล่านี้ มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่มากกว่าร้อยละ 90 ดังนั้น เด็กที่สูบบุหรี่มาก่อนต้องโทษแล้ว จึงยังคงสูบบุหรี่ต่อเมื่อต้องเข้าสู่เรือนจำและศูนย์ฝึกฯ
อรพรรณ เลาหัตถพงษ์ภูริ ผู้ตรวจการราชการ กรมพินิจฯ กล่าวว่า ทางศูนย์ฝึกเด็กและเยาวชนปลอดบุหรี่ได้ใช้เครื่องตรวจวัดค่าลมหายใจ เป็นตัวประเมินการตรวจวัดแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งก่อนหน้าโครงการจะเกิดขึ้น ได้เข้าไปตรวจค้น และพบว่าเด็กแอบลักลอบนำบุหรี่เข้าไปข้างใน พอมีโครงการนี้ก็เชื่อมั่นว่าจะทำให้เด็กและเยาวชน ลด ละ เลิก ซึ่งเป็นการตัดวงจรแรก เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าสู่วงจรยาเสพติดอื่นๆ และสอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการให้บุคลากร เจ้าหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน
ด้าน รศ.ดร.ผ่องศรี ศรีมรกต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าแผนงาน กล่าวว่า สสส. ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนจนโครงการสำเร็จ มีส่วนได้เข้ามาเติมเต็มการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
"หัวใจหลักสำคัญในการดำเนินงาน คือ ทีมพยาบาลที่ประจำแต่ละศูนย์ฯ นอกจากนี้ ยังมีทีมนักจิตวิทยา ครูหน่วยฝึกอาชีพ พนักงานพินิจ เป็นผู้ร่วมสนับสนุน ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในศูนย์ฯ นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดประกวดแต่งคำขวัญหรือเรียงความเรื่องเด็กอยากเลิกบุหรี่เพื่อใคร ประกวดวาดภาพระบายสี เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสสมเด็จพระเทพฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษากิจกรรมกีฬาพาเลิกบุหรี่ กิจกรรมธรรมะบำบัด บริการน้ำยาบ้วนปาก โดยเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้คะแนนสะสมความดี สามารถนำไปแลกสิทธิ์กลับไปเยี่ยมบ้านได้ ถือเป็นความสุขที่พวกเขาต่างปรารถนา" หัวหน้าแผนงานกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงปีแรกได้เริ่มนำร่องที่ศูนย์ฝึกฯ ศิรินธร เพียงแห่งเดียว พบว่า ก่อนเริ่มโครงการมีเจ้าหน้าที่สูบบุหรี่ทั้งสิ้น 16 คนจากจำนวนดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ร่วมโครงการทั้งหมด 12 คน เลิกบุหรี่ได้ถึง 4 คน หรือร้อยละ 33 ในส่วนของเยาวชนที่ร่วมโครงการทั้ง 2 รุ่น มีทั้งหมด 175 คน ผลจากการติดตามการเลิกบุหรี่ครบ 6 เดือน มีทั้งสิ้น 28 คนหรือร้อยละ 32.56
นอกจากนี้ รศ.ดร.ผ่องศรี ได้เล่าเสริมอีกว่า ในปี 2558 ได้มีการขยายเพิ่มอีก 3 ศูนย์ฯ ได้แก่ บ้านมุทิตาอุเบกขา และสถานแรกรับเด็กและเยาวชน จ.นนทบุรี ซึ่งในขณะนั้นมีเครื่องเป่าวัดลมหายใจเพียง 1 เครื่องเท่านั้น ทำให้การใช้งานยังต้องหมุนเวียนทั้ง 4 ศูนย์ฯ และในปี 2559 นี้ ทาง สสส. ได้สนับสนุนการขยายแผนงานต่อเนื่อง โดยขยายเครือข่ายเพิ่ม 6 ศูนย์ฯ ในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง กรุงเทพฯ รวมเป็นทั้งหมด 10 ศูนย์ฯ และมอบกระเป๋าเดินทางไว้ประจำแต่ละศูนย์ฯให้เป็นการเลิกบุหรี่เคลื่อนที่ และตรวจวัดค่าคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นประจำ
"เด็กและเยาวชนในศูนย์ฯ ส่วนใหญ่ที่สูบบุหรี่นั้น มีสาเหตุมาจาก เห็นแบบการสูบบุหรี่อย่างจากผู้ปกครอง อิทธิพลจากสื่อโฆษณา เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้น้อย มีแนวโน้มการสูบบุหรี่เร็วกว่าบ้านที่ผู้ปกครองไม่สูบบุหรี่ โครงการนี้เป็นการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีความเหลื่อมล้ำ" หัวหน้าแผนงานกล่าว
ปัญหาบุหรี่ถ้าถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ถูกวิธี และตรงจุดจะสามารถสร้างเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตมีคุณภาพลดปัญหาครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล