รำชาวนา สืบวิถีกงไกรลาศ
“ชีวิตชาวนา เช้ามาเร็วไว แบกคันไถ ร้องแทนขลุ่ย ออกทุ่งไปกับเพื่อนทุย รีบจ้ำลุยน้ำกระจาย เช้าตรู่เดินลุย ร้องเพลงแทนขลุ่ย จูบทุยเพื่อนยา ชีวิตชาวนา คว้าหาบเดินตาม หิ้วข้าวน้ำหาบตามเร็วไว ไม่ชักช้าเวลาจะสายน้ำปลาเด็ดดวงอยู่ไหน อย่าลืมนำไปผัดเผ็ดปลาไหลกินในท้องนา” บทเพลงรำชาวนาดังลั่นจากปาก ป้าปราณีต คงรอด วัย 64 ปี ประธานกลุ่มการแสดงพื้นบ้าน รำชาวนา ต.ไกรนอก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย
ป้าปราณีต เล่าว่า รำชาวนาเกิดมาพร้อมกับการอบรมลูกเสือชาวบ้านและสมาชิกชาวนาอีกหลายสิบคน ที่พร้อมนำเสนอวิถีชีวิตของชาวกงไกรลาศ ผ่านบทเพลงสะท้อนวิถีชีวิตชาวนา พร้อมการแสดงด้วยการรำคล้ายกับการรำวงมาตรฐานและการแต่งกายเรียบง่ายของชาวนา
ไม่นานนักทางองค์กรส่วนท้องถิ่นออกคำสั่งให้อนุรักษ์การแสดงพื้นบ้านชุดรำชาวนาเอาไว้ กลุ่มการแสดงพื้นบ้านจึงปรึกษาหารือและพัฒนาการแสดงรำชาวนาโดยมีรีวิวประกอบเพลงและเครื่องดนตรีอย่างระนาดเข้ามาให้จังหวะ
กว่าจะเป็นรำชาวนาได้ก็ยากอยู่เหมือนกัน เพราะต้องผ่านอุปสรรคการคัดค้านของเด็กๆ ที่มองว่าการแสดงพื้นบ้านรำชาวนามันเชย ไม่น่าสนใจ เสื้อผ้าไม่สวยงาม แต่เพราะสมาชิกในหมู่บ้านยึดอาชีพชาวนาเป็นหลัก ดังนั้นควรนำอาชีพของคนส่วนใหญ่ออกมาแสดงให้คนอื่นได้รู้ว่าเรามีดีอย่างไร กลุ่มการแสดงพื้นบ้านรำชาวนาเล่าด้วยเกียรติของชาวนาอย่างเต็มภาคภูมิ
ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มการแสดงพื้นบ้านรำชาวนายังคงอยู่ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายสุขภาวะตำบล จัดให้การแสดงพื้นบ้านรำชาวนาเป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญอีกฐานหนึ่งของ ต.ไกรนอก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย
ป้าปราณีตเล่าต่อว่า เดี๋ยวนี้ไม่เพียงแต่เด็กหรือเยาวชนเท่านั้น ที่ไม่สนใจการแสดงพื้นบ้านรำชาวนา แม้กระทั่งองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญกับการแสดงแบบใหม่มากกว่า การแสดงรำชาวนาไม่ใช่เพียงการแสดงเพื่อความสนุกสนาน แต่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอำเภอกงไกรลาศ
เช่นเดียวกับ ป้าสุเรศ รอดสิน และ ป้ารวม สิ่งสนิท สมาชิกกลุ่มการแสดงพื้นบ้านรำชาวนา เล่าว่า อยู่ในกลุ่มการแสดงพื้นบ้านรำชาวนามา 30 กว่าปี ชอบและหลงใหลในเสียงเพลงเสียงดนตรีพื้นบ้านตั้งแต่เด็ก เพราะฟังแล้วรู้สึกรื่นเริง สนุกสนาน
ป้าสุเรศ เล่าว่า เข้าร่วมกลุ่มการแสดงพื้นบ้านรำชาวนาจากการชักชวนของป้าปราณีต โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ จุดประสงค์เดียวในการร่วมอุดมการณ์ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นคืออยากเผยแพร่วัฒนธรรมรำชาวนา เพราะต้องการให้ผู้อื่นรู้จักวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา สิ่งสำคัญกว่านั้นคือต้องการสืบสานวัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้เพราะเป็นการแสดงที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตชาวนาอย่างแท้จริง
ด้าน ป้ารวม เล่าด้วยสีหน้าตื่นเต้นว่า การแสดงพื้นบ้านรำชาวนายังไม่ได้ลบเลือนหายไปจากอำเภอกงไกรลาศ โดยปกติกลุ่มการแสดงพื้นบ้านรำชาวนาถูกเชิญให้ไปแสดงเป็นประจำในวันสตรีสากล วันพ่อแห่งชาติ และวันแม่แห่งชาติ แม้กระทั่งวันอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อมีผู้มาติดต่อให้ไปแสดงที่ใดทุกคนจะตื่นเต้นไม่แพ้กัน ส่วนเนื้อหาเพลงหลักๆ ยังคงไว้แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของงานที่แสดง
กว่าชั่วอายุคนที่ รำชาวนา มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้านยังคงอยู่มิเลือนหายจากความทรงจำ และมิใช่เพียงการแสดงออกถึงวิถีชีวิตชาวนาเท่านั้น รำชาวนายังสื่อรวมถึงคุณค่าของเมล็ดข้าว…และชาวนา
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด