ระวัง!! ยุงรำคาญคู่ “น้ำเน่าเสีย”

 

น้ำ ” เวลาจะมาก็ไม่บอกล่วงหน้า ให้ “ทำใจ” ต้อนรับ เมื่อมาแล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะ “ไป” เสียที จนเวลาล่วงเลยจากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เพิ่มเป็นเดือน จากเดือนเริ่มเป็น 2-3เดือน น้ำเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็นแถมยุงชุกชุม สร้างความน่าสะพรึงกลัวได้ไม่น้อย เพราะชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดโรค แต่ “หมออ๊อด” วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. ยืนยันว่าเป็นแค่ “ยุงรำคาญ” ไม่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกหรือมาลาเรียได้แน่

วิทยา บุรณศิริ” รมว.สาธารณสุข สวมบท “หมออ๊อด” ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังสูง และมีปัญหาน้ำเน่าเสีย ทำให้เกิดยุงจำนวนมาก ซึ่งประชาชนวิตกกังกลเกรงว่าจะทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรียตามมานั้น ขอให้สบายใจได้ เพราะยุงที่เกิดในน้ำเน่าเสียเป็น “ยุงรำคาญ” ไม่ใช่ยุงลายที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก หรือยุงก้นปล่องที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย

“ผมได้มอบหมายให้กรมอนามัยและกรมควบคุมโรค ประสานการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ ในการดูแลความสะอาดปรับปรุงคุณภาพน้ำ และพ่นหมอกควันทำลายยุงตัวแก่ในศูนย์พักพิง ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากทุกแห่ง แจกโลชั่นทากันยุง และได้รับการสนับสนุนมุ้งชุบสารเคมีฆ่ายุงจากองค์การอนามัยโลกจำนวน 75,700 หลัง และจากองค์การยูนิเซฟ 20,000 หลัง รวม 95,700 หลัง ได้นำไปแจกให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ และ กทม. พร้อมให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันยุง และโรคที่มากับน้ำท่วม” วิทยา กล่าว

เพื่อความมั่นใจว่า “ยุงรำคาญ” ที่มาพร้อมกับน้ำเน่าเสียไม่ได้ทำให้เกิดโรคได้ “นพ.ไพจิตร์ วราชิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ายุงที่มีชุกชุมขณะนี้ ไม่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกหรือโรคมาลาเรีย เพราะเกือบทั้งหมดเป็นยุงรำคาญแม้ว่ายุงชนิดนี้บางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดโรคเท้าช้างก็ตาม แต่เขตพื้นที่น้ำท่วมในขณะนี้ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง จึงแทบไม่มีโอกาสเกิดโรคนี้

ทั้งนี้ สาเหตุที่มียุงรำคาญชุกชุมในขณะนี้เกิดจาก 3 ประการ คือ 1. ยุงรำคาญจะวางไข่ในน้ำเน่าเสีย กลิ่นเหม็นของน้ำที่เน่าเสียจะชักนำยุงให้มาวางไข่ จึงทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์มากขึ้น 2. ยุงกินเลือดเพื่อให้ไข่เจริญเติบโตในช่วงน้ำท่วมประชาชนมีการป้องกันตัวน้อยมักใส่ขาสั้น ทำให้ยุงมีพื้นที่ดูดเลือดได้มากจึงวางไข่ได้มากขึ้น และ 3. ปกติยุงรำคาญจะอาศัยอยู่นอกบ้าน เช่น ตามท่อระบขายน้ำตามต้นไม้ร่มไม้ ท้องทุ่งท้องนา เมื่อที่อยู่ตามปกติถูกน้ำท่วม จึงบินมาอยู่ใกล้ๆ คน หรือในมุมอับทึบของบ้าน ตามกองสิ่งของที่นำมาเก็บหนีน้ำรวมกันไว้

นพ.ไพจิตร์ ให้ข้อมูลว่า นิสัยยุงรำคาญจะหากินตอนช่วงพลบค่ำ ดังนั้นประชาชนจึงควรอยู่ในห้องที่ติดมุ้งลวด หรือกางมุ้งนอน หากต้องออกนอกบ้าน ขอให้สวมเสื้อผ้ามิดชิด และทาโลชั่นกันยุงเช่นตะไคร้หอม เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด และช่วยกัน ลดปริมาณยุงหลายวิธีคือ 1. ช่วยกันเก็บขยะขึ้นจากน้ำเพื่อลดการเน่าเสียของน้ำ ซึ่งจะชักนำยุงรำคาญให้มาวางไข่ 2. ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น โดยใส่อีเอ็มชนิดน้ำภายในบ้าน และอีเอ็มบอลบริเวณสวนรอบๆ บ้าน จะช่วยบรรเทาจำนวนยุงลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่แนะนำให้ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำท่วมกินบริเวณกว้าง และทรายจะจมลงในดินตะกอน จึงไม่ออกฤทธิ์ในการฆ่าลูกน้ำและ 3. ในบ้านที่มีน้ำท่วมขังเป็นแอ่ง สามารถช้อนลูกปลา โดยเฉพาะปลาหางนกยูง มาปล่อยไว้เพื่อกินลูกน้ำ

“การพ่นหมอกควันจะช่วยลดจำนวนยุงลงชั่วคราวเท่านั้น เพราะเป็นการฆ่าเฉพาะยุงที่บินออกมาหากินบริเวณที่พ่นนั้น แต่จะมียุงเกิดใหม่ทุกวัน และยุงจากบริเวณอื่นที่ไม่โดนหมอกควันก็จะบินเข้ามาแทนที่ ซึ่งยุงรำคาญมีอายุประมาณ 45 วัน สามารถบินได้ไกลในรัศมีประมาณ 1-3 กิโลเมตร”

ดังนั้นการป้องกันยุงรำคาญกัดโดยเฉพาะผู้ต้องเดินทางในช่วงพลบค่ำ นพ.ไพจิตร์ แนะนำให้ทาโลชั่นกันยุง ซึ่งจะเหมาะสมและคุ้มค่ากว่าการพ่นหมอกควันมากครับ

แหม! ได้รับคำยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่รับผิดชอบดูแลเอาใจใส่สุขภาพอนามัยของประชนคนไทยแล้วเชื่อว่าพี่น้องคนไทยทุกคนที่กำลังทุกข์เพราะน้ำท่วม คงคลายวิตกกังวลไปได้บ้างว่า “ยุงรำคาญ” ไม่ได้เพิ่มทุกข์ แต่ทำให้รู้สึกแค่ “รำคาญ” เน้อ !!

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 

Shares:
QR Code :
QR Code