“UP TO ME” รณรงค์เพื่อน้องไม่ให้“ป่อง”ก่อนวัยอันควร
ร่างทารกกว่า 2 พันศพที่ถูกพบในวัดแห่งหนึ่งที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อเมื่อเร็วๆ นี้นั้น สะเทือนความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทยไม่น้อย ไม่เพียงแต่เจ้าของร่างเล็กๆ จะไม่มีโอกาสได้ลืมตาดูโลก แต่ผู้เป็น “มารดา” ของพวกเขา อาจมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ยังก้าวไม่พ้นคำว่า “เด็กและเยาวชน”
ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่นับวันจะยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะไม่เพียงแค่ตัวเลขการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นจะเพิ่มสูงขึ้น แต่อายุของเด็กที่ตั้งครรภ์ก็มีแนวโน้มจะลดต่ำลงด้วยเช่นกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การแพธ (PATH) จึงได้เปิดตัว “โครงการรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น” หรือ “UP TO ME”ขึ้น เพื่อผลักดันให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาได้เข้าใจถึงวิธีการลดความเสี่ยงของการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ สสส.ให้ความสำคัญ
น.ส.ภาวนา เหวียนระวี ผู้จัดการ UP TO MEและผู้แทนองค์การแพธ ประจำประเทศไทย เล่าถึงรูปแบบกิจกรรมของโครงการ UP TO MEว่า ทางโครงการฯ ได้จัดอบรมทีมรณรงค์สัญจรซึ่งประกอบด้วยเยาวชนที่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จากศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน จากกลุ่มเยาวชนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้ง เครือข่ายผู้ใหญ่ใจดีจากสถาบันการศึกษา สาธารณสุข และองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน250 คน ซึ่งทีมรณรงค์สัญจรจะเข้าไปทำกิจกรรมในสถานศึกษา โดยในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ใช้ภาพยนตร์ชุด “ทางเลือก”ซึ่งนำเสนอเรื่องราวชีวิตของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายผ่านตัวละครที่มีทัศคติเรื่องเพศแตกต่างกัน ภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างให้ตัวละครต้องเจอกับสถานการณ์ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และนำไปสู่การหาหนทางที่พวกเขาต้องหาวิธีคลี่คลายปัญหาที่เกิดจากการกระทำของตัวเอง
“ภาพยนตร์แบ่งออกเป็น 3 ตอน ตอนละ 15 นาที จะฉายภาพยนตร์สลับกับการทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ โดยให้เด็กๆ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการค้นหาทางเลือกที่รอบด้านในการป้องกัน และการแก้ไขสถานการณ์ท้องไม่พร้อม เพื่อสร้างทัศนคติเรื่องเพศและการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ ด้วย โดยโครงการ UP TO ME จะดำเนินการนำร่องในสถานศึกษา 242 แห่ง ใน 22 จังหวัด”น.ส.ภาวนากล่าว
ผู้จัดการ UP TO MEกล่าวอีกว่า โครงการฯ จะมอบคู่มือการจัดกิจกรรมพร้อมแผ่นดีวีดีหนังสั้นทางเลือกให้สถานศึกษาละ 1 ชุด เพื่อนำไปขยายผลต่อ รวมทั้งขอความร่วมมือจากเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมให้ช่วยกันบอกต่อเชิญชวนเพื่อนๆ ชมหนังสั้นทางเว็บไซต์ Lovecarestatiom.com และร่วมกิจกรรมในเว็บไซต์ดังกล่าว
“น้องอ้อม-กมลวรรณ แก้วมา” นักเรียนชั้น ม.3 ร.ร.วัดบวรมงคล ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรม UP TO ME เล่าให้ฟังว่า นอกจากภาพยนตร์ชุดทางเลือกที่นำมาเปิดให้ชมแล้ว ทางทีมรณรงค์สัญจรยังให้นักเรียนจับฉลากเพื่อให้สวมชุดคนท้องที่มีน้ำหนักชุดเท่ากับคนอายุครรภ์ 6 เดือน และ 9 เดือนอีกด้วย ซึ่งเธอจับฉลากได้สวมชุดคนท้องอายุครรภ์ 9 เดือน
“อ้อมต้องสวมชุดคนท้องทำกิจกรรมและเรียนหนังสือทั้งวัน เวลาเดินไปไหนก็ถูกเพื่อนๆ ถามว่าท้องหรือ บางคนก็หัวเราะ เราก็รู้สึกอาย อีกความรู้สึกหนึ่งคือสงสารคนที่ตั้งท้องจริงๆ เพราะเขาก็คงรู้สึกอายและรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี เดินไปไหนก็มีคนมอง คนหัวเราะ นอกจากนี้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ก็ไม่คล่องตัวเพราะน้ำหนักชุด เคลื่อนไหวไม่สะดวก ถ้าท้องแล้วมาเรียนหนังสือด้วยก็คงไม่สนุก”
หลังเข้าร่วมกิจกรรม อ้อม บอกว่า ทัศนคติของเธอเกี่ยวกับเรื่องเพศและการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเปลี่ยนไป จากเดิมที่เธอรู้เพียงว่าการคุมกำเนิดทำได้โดยสวมถุงยางอนามัย หรือทำหมัน แต่หลังเข้าร่วมกิจกรรมเธอรู้จักการป้องกันอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก อาทิ การนับวัน หรือการหลั่งนอก แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทำให้เธอตระหนักว่าต้องรู้จักการปฏิเสธ รักนวลสงวนตัว และไม่นำตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม
“ส่วนการตั้งครรภ์นั้นจากเดิมอ้อมรู้เพียงว่าหากตั้งครรภ์ในวัยเรียนก็มี 2 ทางคือ ทำแท้ง หรือไม่ก็ลาออกไปคลอดลูก แต่ทางโครงการฯ ได้บอกถึงแนวทางอื่นๆ ให้เราทราบ เช่น ตั้งครรภ์ก็ยังมาเรียนได้ หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้ เช่น บ้านพักฉุกเฉิน อ้อมคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีที่ให้ความรู้แก่เด็กและช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ ว่าการตัดสินใจทำสิ่งใดลงไปหากไม่พร้อมอาจจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมายค่ะ”
ขณะที่ “น้องปอนด์-พรมนัส จำปาแพง” นักเรียนชั้น ม.3 ร.ร.วัดบวรมงคล ซึ่งเป็นหนุ่มที่ต้องสวมชุดคนท้องเช่นกัน บอกเล่าความรู้สึกว่า การที่ต้องสวมชุดคนท้องทำให้เข้าใจความรู้สึกของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และคิดว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่พร้อมน่าสงสาร เพราะไม่เพียงแต่การใช้ชีวิตประจำวันจะไม่สะดวกสบายเพราะน้ำหนักครรภ์แล้วยังต้องแบกรับความอับอายจากสายตาคนอื่นด้วย
“ผมกับเพื่อนๆ เพื่อนผู้ชายที่เข้าร่วมกิจกรรมเห็นตรงกันว่า การที่ผู้ชายไปทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมนั้น ถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ และเห็นแก่ตัว ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง การเป็นผู้ชายควรให้เกียรติผู้หญิง ทำให้พวกเราตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้มากขึ้นครับ”น้องปอนด์กล่าว และบอกด้วยว่า จะนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการไปขยายผลไปยังรุ่นน้องต่อไป
ด้าน “อ.วิรัช ศรีโกเศรษฐ”อาจารย์ประจำวิชาสุขศึกษา ร.ร.วัดบวรมงคล กล่าวว่า การทำกิจกรรมในโครงการ UP TO ME ที่ให้เด็กได้ชมภาพยนตร์และแสดงความคิดเห็นร่วมกันนั้น ทำให้ได้ทราบถึงทัศนคติของเด็กว่าเขารู้สึกอย่างไรในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ในวัยเรียน ทำให้การสอดแทรกความรู้ในเรื่องนั้นๆ ทำได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับทัศนคติเดิมของเด็กๆ นอกจากนี้ยังฝึกให้เด็กกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองด้วย
“ที่น่ากังวลคือปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเริ่มลงไปยังกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยลง นั่นคือเริ่มลงไปในกลุ่มเด็กประถมศึกษา จึงควรมีกิจกรรมที่จะไปให้ความรู้หรือไปสร้างความตระหนักในลักษณะเดียวกับโครงการ UP TO ME ขยายไปในเด็กกลุ่มนี้ด้วยครับ”
เชื่อว่าหากเด็กและเยาวชนมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ปัญหาเรื่อง “ท้อง แท้ง ทิ้ง” คงลดน้อยลง และสังคมไทยคงไม่ต้องพบกับความสลดหดหู่จากการพบซากทารกที่เกิดจากการทำแท้งอีกต่อไป
เรื่องโดย : คีตฌาณ์ ลอยเลิศ Team content www.thaihealth.or.th