‘Run for harmony’ สามัคคีคือพลัง
ที่มา : ข่าวสด
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
'เดิน-วิ่ง วไลยอลงกรณ์ รัน 2017' "Run for harmony" สามัคคีคือพลัง
ถือเป็นคอนเซ็ปต์งานวิ่งที่มี ความสร้างสรรค์แตกต่างจากงานวิ่งต่างๆ ไม่น้อย สำหรับการแข่งขัน 'งานเดิน-วิ่ง ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ รัน 2017' ชิงถ้วยเกียรติยศจากผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 กันยายน 2560 ภายใต้แนวคิด "Run for harmony" ที่เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของนักเรียน ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน คณาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาสู่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ และเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคี เครือข่าย สสส.
ดร.นพ.ไพโรจน์เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิต สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการวิ่งเป็นกีฬาที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และยังเป็น การสร้างแรงบันดาลใจต่อคนรอบข้าง นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างสังคมและเสริมสร้างความสามัคคี ให้เกิดขึ้น สสส. ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจและร่วมกิจกรรมกับงานเดิน-วิ่งมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีนักวิ่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านคน จากเดิมที่ใน 10 ปีที่แล้ว มีเพียงกว่า 5.8 ล้านคน เท่านั้น
รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ มองว่า การจัดงานเดิน-วิ่งในครั้งนี้ สถาบันเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ เพราะการเดิน-วิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ไม่ยาก จึงใช้กีฬาชนิดนี้จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออกกำลังกาย อย่างง่ายๆ ภายใต้ความแตกต่างจากงานวิ่งอื่นที่ดึงการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันและชุมชน โดยให้นักศึกษาทำกิจกรรมร่วมกับประชาชนในชุมชน อีกทั้งยังตอบรับกิจกรรม 'รับน้องใหม่อย่างสร้างสรรค์ด้วยการออกกำลังกาย' ด้วยการส่งเสริมให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ร่วมแข่งขัน โดยคาดหวังไว้ว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง ที่ถูกตามหลักสากลที่จะนำไปเป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรมในปีต่อไปให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏอีก 38 แห่งทั่วประเทศ
"แม้จะเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยฯ จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งขึ้น แต่โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ที่เข้ามาช่วยในเชิงวิชาการและจัดทำคู่มือตามหลักการวิ่งสากล เสมือนเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน ให้ถูกต้อง จึงต้องขอบคุณหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุน และ สสส. ที่ช่วยกัน จนทำให้มหาวิทยาลัยฯ ได้เริ่มต้นจัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้แก่ประชาชน" รศ.ดร.สมบัติ กล่าวขอบคุณ
ทั้งนี้ สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก สสส. เป็นองค์กรสำคัญที่ร่วมปลุกกระแสและมีส่วนร่วมในการจัดงานแข่งขันเดิน-วิ่งในสังคมไทยมาโดยตลอด อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส. บอกว่า ตัวอย่างการจัดงานเดิน-วิ่งตามมาตรฐานสากล เช่น 1) เส้นทางการแข่งขัน ต้องมีการบอกระยะทางชัดเจนเพื่อให้นักวิ่งได้รู้สถิติระยะทางที่แท้จริง 2) จุดบริการน้ำดื่ม ต้องมีอย่างพอเพียงตามระยะทางที่เหมาะสมและมีแก้วน้ำดื่มบริการอย่างเพียงพอ และ 3) การดูแลมาตรฐานความปลอดภัย เช่น การแบ่งช่องทางที่ชัดเจนระหว่างเลนวิ่งกับเลนรถ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบริการไม่ให้เกิดอุปสรรคระหว่างวิ่งแข่งขัน ซึ่งหลักดังกล่าว สสส. ได้นำมาใช้กับการจัดงานเดินวิ่งในประเทศไทยได้ประมาณ 2 ปีแล้ว อย่างงาน สสส. จอมบึงมาราธอน และงาน Thaihealth day run 2016 เป็นต้น
ด้าน นายสุทัศน์ กัลป์ยาณกิตติ อายุ 36 ปี นักกีฬาวิ่งทีมชาติไทย และอดีตศิษย์เก่าจากสถาบัน ที่เริ่มออกวิ่งตั้งแต่อายุ 15 ปี แสดงความรู้สึกว่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ของศิษย์เก่า-ปัจจุบัน ตนจึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกิจกรรม สำหรับคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อนสามารถใช้งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการวิ่งได้ เพราะมีระยะวิ่ง 2 ระยะด้วยกัน คือ 3.5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร ไม่ว่าคุณจะเลือกลงแข่งระยะไหนก็ส่งเสริมให้สุขภาพดีขึ้น และเป็นการท้าทายจิตใจตัวเอง ซึ่งในวันดังกล่าวตนจะพาน้องๆ นักวิ่งทีมชาติไทยลงสนามไปพร้อมๆ กับทุกคน
นอกจากนี้ ไฮไลท์กิจกรรมยังอยู่ที่การนำตุ่มสามโคก เครื่องปั้นดินเผาภูมิปัญญาชาวมอญมาตั้งบริเวณจุดบริการน้ำ และ นักวิ่งสามารถรับน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับคณะวิ่งได้อีกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ที่ www.runlah.com และสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊ก 'วไลยอลงกรณ์ รัน Valaya Alongkorn Run'