‘Patom’ ส่งต่อผลิตภัณฑ์คุณภาพสู่ผู้บริโภค
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
'Patom' Organic Living ส่งต่อผลิตภัณฑ์คุณภาพสู่ผู้บริโภค เชื่อมเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรง
"เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" คงเป็นคำกล่าวที่ใช้ได้ดีกับแบรนด์ "Patom" เพราะจุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากโครงการที่หลายคนรู้จักกันดีอย่างสามพรานโมเดล โดยผ่านการขับเคลื่อนของมูลนิธิสังคมสุขใจ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรใน จ.นครปฐม และพื้นที่ใกล้เคียงหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น พร้อมกับพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเชื่อมเกษตรกรกับผู้ผลิตได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง
ส่วนนี้เป็นการต่อยอดจากความชอบเรื่องสุขภาพและออร์แกนิกของ "อรุษ นวราช" กรรมการผู้จัดการสามพราน ริเวอร์ไซด์ ซึ่งเป็นพี่ชายของ "อนัฆ นวราช" ผู้อำนวยการแบรนด์ "Patom" และหัวหน้าโครงการปฐมเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์สู่ผู้บริโภค ที่ "อรุษ" เนรมิตพื้นที่กว่า 130 ไร่ ให้เป็นออร์แกนิกทั้งหมด โดยได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลจากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements), สหภาพยุโรป (EU) และประเทศแคนาดา
จากพื้นที่ดังกล่าวมีการปลูกพืชออร์แกนิก ประมาณ 30 ไร่ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสบู่, แชมพู และเจลอาบน้ำให้บริการกับลูกค้าที่เข้ามาพักยังสามพราน ริเวอร์ไซด์ หลังจากนั้นจึงมีการขยายจนนำมาสู่การทำผลิตภัณฑ์สกินแคร์ สำหรับ จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อสามพราน
"เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมสังเกตเห็นว่าเรามีวัตถุดิบที่ดี นอกจากผักผลไม้แล้วยังมีสมุนไพรด้วย จึงอยากเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ธรรมดาให้เป็นออร์แกนิก ด้วยการนำสมุนไพรและดอกไม้ที่เราปลูกเอง และจากเกษตรกรของโครงการสามพรานโมเดลมาแปรรูป ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตตามระบบเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล โดยมีผลิตภัณฑ์ 20 กว่าชนิด อาทิ แชมพูบำรุงเส้นผม, น้ำกุหลาบมอญ, สบู่, บอดี้โลชั่น, ลิปบาล์ม, ยาดม และชาออร์แกนิก"
"อนัฆ" เล่าถึงความเป็นมาของแบรนด์ "Patom" ให้ฟังพร้อมบอกว่า ก่อนหน้านี้มีการจำหน่ายสินค้าที่สวนสามพรานเพียงแห่งเดียว แต่เพราะเราต้องการนำเสนอแนวคิดความเป็นออร์แกนิกที่ชัดเจน จึงตัดสินใจมาเปิดร้าน Patom Organic Living บนพื้นที่ 250 ตารางวา ในซอยทองหล่อ 23 โดยจำหน่ายสินค้าออร์แกนิกประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์แปรรูปสกินแคร์ชนิดต่าง ๆ
สินค้าทุกประเภทอยู่ภายใต้แนวคิด Organic Living ซึ่งเปิดให้บริการมา 3 เดือนแล้ว โดย 3% ของรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จะมอบให้กับมูลนิธิสังคมสุขใจ เพื่อสมทบทุนการพัฒนา และส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกร
ตอนนี้แบรนด์ Patom ทำงานร่วมกับเกษตรกร 11 กลุ่มของสามพรานโมเดล อยู่ใน จ.นครปฐม 8 กลุ่ม นอกจากนั้นเป็น จ.ประจวบคีรีขันธ์, จ.ราชบุรี และ จ.กาญจนบุรี แต่ละกลุ่มปลูกพืชและผลไม้ที่แตกต่างกัน โดยมีแผนจะร่วมมือเพิ่มเติมกับเกษตรกรที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ทั้งนั้น วัตถุดิบอินทรีย์จากเครือข่ายเกษตรกรจะอยู่ภายใต้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS : Participatory Guarantee System) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFOAM
"จุดเด่นของเราคือการให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มจนจบ เราทำงานกับเกษตรกรเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ต้องการ แล้วนำมาแปรรูปและส่งสินค้าที่มีคุณภาพถึงมือลูกค้า ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบออร์แกนิกในผลิตภัณฑ์ทุกชนิด อีกทั้งยังมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน เพราะ ผู้บริโภคสามารถเยี่ยมชมโรงงานผลิตและฟาร์มเพื่อทราบถึงขั้นตอนในการผลิตได้"
ดังนั้น ภายในร้าน Patom Organic Living จะมีแผนที่ของ จ.นครปฐม และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งบอกที่ตั้งของเกษตรกร 11 กลุ่มในโครงการสามพรานโมเดล เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบในอาหารอย่างชัดเจน
"แบรนด์ของเราเป็นการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากสามพรานโมเดลมาให้ผู้บริโภคในเมืองเข้าถึงได้ง่าย นอกจากการจำหน่ายผักสด ผลไม้ ขนม เครื่องดื่มที่ส่งตรงจากเกษตรกรแล้ว เรายังจัดทำข้าวกล่องชื่อ Organic Express โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภครับประทานผักและผลไม้ 400 กรัมต่อวัน ภายในกล่องจะบรรจุปริมาณผักครบตามคุณค่าโภชนาการที่ สสส. และองค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยเรามีแผนที่จะทำดีลิเวอรี่อีกด้วย"
นอกจากนั้น ในแต่ละเดือนจะมีการจัด Organic Famers' Market เพื่อให้ผู้บริโภคพบกับผู้ผลิต โดยนำเกษตรกรในเครือข่ายโครงการสามพรานโมเดลที่ส่งวัตถุดิบให้กับร้านมาร่วมออกบูทจำหน่ายสินค้า ผัก ผลไม้ ข้าว และขนมไทยชนิดต่าง ๆ
รวมถึงมีเจ้าหน้าที่จากสวนสามพราน และมูลนิธิสังคมสุขใจ มาถ่ายทอดความรู้ ด้านเกษตรอินทรีย์ ทั้งการเตรียมดินสำหรับปลูก การเพาะเมล็ดพันธุ์ผัก การทำปุ๋ยหมัก การทำฮอร์โมนไข่ และการเลี้ยงไส้เดือนดิน เป็นต้น ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนเหมาะกับคนรักสุขภาพทุกเพศทุกวัย
ไม่เพียงแต่การให้ความสำคัญกับต้นทางของสินค้าทุกชนิดที่จัดจำหน่าย "อนัฆ" ยังมอง ครอบคลุมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมี ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การก่อสร้างร้าน เพราะจะใช้วัสดุอย่างไม้ นำมาจากแพเก่าที่สวนสามพราน ตอไม้ที่เป็น ฐานโต๊ะคือไม้เก่าที่ล้มแล้ว หรือเก้าอี้ก็นำ มาจากบ้านของคุณยาย แล้วนำมาปรับปรุงใหม่ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ส่วนผสมของร้าน Patom Organic Living จึงมีการคิดค้นอย่างเป็นระบบ และนำเรื่องรีไซเคิลมาผนวกอย่างลงตัว
ขณะเดียวกัน แก้วน้ำและกล่องข้าวพลาสติกที่ใช้ยังเป็นไบโอพลาสติก รวมถึง ถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ กระนั้น มีแผนว่าเมื่อร้านเริ่มลงตัว อาจปรับเปลี่ยนไปใช้แก้วกาแฟแบบใช้แล้วล้าง อีกทั้งจะมีการทำถุงผ้าและแก้วสเตนเลสจำหน่าย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ซ้ำ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรลง
กระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องราวระหว่างทางที่ช่วยขับเคลื่อน Patom แต่ "อนัฆ" เน้นย้ำว่า การจะพาแบรนด์นี้ไปได้ไกลนั้นมีแรงผลักดันจากจุดเริ่มต้นเป็นสำคัญ
"ต้นน้ำถือเป็นจุดเน้นสำคัญที่สุดของแบรนด์ เพราะหากไม่มีต้นน้ำที่ชัดเจนอย่าง สามพรานโมเดล Patom ก็จะไม่มีจุดขายที่ชัดเจน หรือไม่มีข้อแตกต่างจากแบรนด์อื่น ซึ่งเมื่อเรามีจุดขายที่แข็งแรง แบรนด์ Patom จึงแข็งแรงตามไปด้วย"