MOU 5 หน่วยงานภาครัฐ เสริมพลัง “ภาคประชาสังคม”
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
แฟ้มภาพ
“พล.อ.ประยุทธ์” ปธ.พิธีลงนามความร่วมมือ 5 หน่วยงานภาครัฐ เสริมพลัง “ภาคประชาสังคม” มอบ “พล.ร.อ.ณรงค์” นั่งประธาน คสป. ประสานความร่วมมือ เอ็นจีโอชี้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมประชาธิปไตยเข้มแข็ง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 ตุลาคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนการส่งเสริมภาคประชาสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือโครงการ “ประชาสังคมเข้มแข็ง สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม(คสป.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งเป็นดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 5 หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ พม. กระทรวงมหาดไทย(มท.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. โดยมีภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 37 องค์กรจากทั่วประเทศเข้าร่วม อาทิ เครือข่ายประชาคมภาคอีสาน เครือข่ายประชาคมภาคเหนือ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีเหตุผล และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูประเทศ การทำงานของ คสป.มุ่งหวังว่าเป็นการรวมกลุ่มของภาคประชาสังคมที่เหมาะสมสร้างสรรค์ เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาปฏิรูปประเทศร่วมกัน บทบาทการทำงานสาธารณะด้วยแนวทางการประสานความร่วมมือกับทางราชการและภาคส่วนต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาสังคม สุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา สุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยในชีวิต แรงงาน สวัสดิการสังคม และด้านเกษตร ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อมและสมบัติส่วนรวมของประเทศชาติ รัฐบาลตระหนักถึงความซับซ้อนของปัญหาทางสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แนวโน้มความรุนแรงของปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีรัฐบาลใดที่แก้ปัญหาของประชาชนและประเทศชาติได้โดยลำพัง การรวมพลังแบบประชารัฐจึงเป็นหลักการสากล ซึ่งเชื่อว่าองค์กรภาคประชาสังคมในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ จะร่วมกันทำให้พลังประชารัฐมีความครบเครื่องและสมบูรณ์พร้อม
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการดำเนินประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม เพื่อส่งเสริมบทบาทและสร้างความเข้มแข็งองค์กร โดยจัดตั้งคณะกรรมการ คสป. ขึ้น มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการฯ คนที่ 2 ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวันชัย บุญประชา มูลนิธิเครือข่ายข่ายครัว มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะประชาชน ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคม และสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคม ดำเนินกิจกรรมหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จัดทำแผนงานการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม และเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ และกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนหรือความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เพื่อสนับสนุนโครงการ และกิจกรรมของภาคประชาสังคม
นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แต่กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ ประชาชนต้องมีบทบาท เพราะประชาชนเป็นทั้งตัวผู้ชี้นำ และผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาธิปไตย ถือเป็นทั้งเจ้าของและผู้ได้รับประโยชน์ ภาคประชาชนที่เข้มแข็ง นั้นหมายถึงประชาชนมีจิตสำนึกที่มีต่อส่วนรวม มีการรวมตัวกัน แต่แค่นั้นยังไม่พอการรวมตัวกันอยู่บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ ในการบริหารจัดการองค์กรให้มีธรรมาภิบาล ให้มีประสิทธิภาพเพื่อการมีส่วนร่วมที่แท้จริง เพราะฉะนั้นการที่ประชาชนรวมตัวกันเป็นประชาสังคม จึงเป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนมีความเข้มแข็ง เมื่อประชาชนมีความเข้มแข็งประชาธิปไตยจะเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ทิศทางการทำงานของคสป.มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีสำนึกสาธารณะเป็นจุดเริ่มต้น และให้น้ำหนักของการวมตัวกันทำงานขององค์กรที่มีธรรมาภิบาล เน้นสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรภาคประชาสังคมมากกว่าการเข้าไปอุดหนุนกิจกรรม ซึ่งมีแหล่งทุนที่เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็มีองค์กรภาคสังคมจำนวนมากที่อ่อนแอ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำเงินมาทำงานเพื่อสังคมได้ ทั้งเขียนโครงการไม่ผ่าน ทำบัญชีไม่เป็น หรือบริหารจัดการโครงการไม่ได้ คสป.จะให้องค์ความรู้และก่อให้เกิดการประสานองค์กรภาคสังคมข้ามเครือข่าย ซึ่งอยู่ระหว่างแลกเปลี่ยนหารือร่วมกัน เพื่อไม่ให้ภารกิจของคสป.ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ