MOUกรมควบคุมมลพิษ-ปรับโรงอาหารกรีน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


 MOUกรมควบคุมมลพิษ-ปรับโรงอาหารกรีน thaihealth


องค์กรแห่งความสุข Happy Work Place สสส.ปีที่13 MOUกรมควบคุมมลพิษอ้วนลงพุงกว่า50%ปรับโรงอาหารกรีน


องค์กรแห่งความสุข Happy Work Place ปีที่ 13 เดินหน้าประชากรวัยทำงานกว่า 37.79 ล้านคน ผอ.สำนัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) MOU กรมควบคุมมลพิษ จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี พร้อมบุคลากร 600 คน "ทำก่อน ทำจริง ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ ยั่งยืน" พบตัวเลขทั้งชายหญิงอ้วนลงพุง 1 ใน 3 ชื่นชอบอาหารไขมันสูง เฉื่อย เนือย มีความสุขอยู่กับเก้าอี้ ที่นอน รู้สึกสบายทำตัวเป็นรีเมอร์ หมีโคอาลา ต้องกระตุ้นให้ลุกขึ้นมาเดิน วิ่ง และออกกำลังกายให้มากขึ้น บางคนเครียดเพราะหนี้สินพุ่งถึง 71% มีเพียง 1 ใน 4 ออมอย่างเป็นระบบ เตรียมปรับโรงอาหารกรีน บริโภคผักผลไม้ปลอดสารพิษ  อาหารว่างในห้องประชุมเป็นเมนูสุขภาพ


"ทำก่อน ทำจริง ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ ยั่งยืน" คือ Motto ที่ชาวกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าปฏิบัติให้เป็นจริง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ สสส. พัฒนาสู่องค์กรแห่งความสุข มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จของการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยจากการมีรายได้ระดับปานกลางสู่ระดับสูง สร้างศักยภาพในการแข่งขันสูง เป็นแหล่งจ้างงานที่ดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานเป็นอย่างดี และรับผิดชอบต่อสังคม โดยตั้งเป้าหมายการลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค บนเวทีเพื่อลงนาม MOU ระหว่าง สสส. และกรมควบคุมมลพิษ ประดับด้วยดอกเบญจมาศหลากสี กล้วยไม้สีม่วงเข้ม แคทลียา ดอกแพงพวย แสดงให้เห็นถึงสุขภาพที่ดีด้วยความใส่ใจอย่างแท้จริง


 MOUกรมควบคุมมลพิษ-ปรับโรงอาหารกรีน thaihealth


เมืองไทยมีประชากรวัยทำงานกว่า 37.79 ล้านคน ถ้าพนักงานทำงานอย่างมีความสุขแล้ว ความเครียด อุบัติเหตุและโรคที่เกิดจากการทำงานลดลงไปด้วย เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทย และยังเป็นการส่งเสริมให้องค์กรมีความรับผิดชอบต่อพนักงาน ลูกค้า ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดสังคมสุขภาวะพร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร ความสำเร็จขององค์กรแห่งความสุขเกิดจากการให้ความสำคัญต่อพนักงานและการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง การปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกันและพัฒนาร่วมกัน คนทำงานมีความสุข (Happy People) พนักงานจัดสมดุลชีวิตได้ ตระหนักว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีความสำคัญขององค์กร มีความเป็นมืออาชีพ ความเป็นอยู่ที่ดี ครอบครัวอบอุ่น มีศีลธรรมอันดีงาม มีความเอื้ออาทรต่อตนเองและสังคมส่วนรวม พร้อมที่จะทำงานเป็นทีม


ผู้ร่วมเสวนาแนวคิด แนวทาง นโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของกรมควบคุมมลพิษที่ ห้องศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช กรมควบคุมมลพิษจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน อาจารย์ประจำ หัวหน้าโครงการสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตองค์กรภาครัฐฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิธิกรดำเนินการเสวนา ดร.กิตติพจน์ เพิ่มพูน รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นพณัฐ บุญสิงห์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองแผนงานและประเมินผล กรมควบคุมมลพิษ ทำหน้าที่พิธีกร โดยมี วชิรา แสงศรี เลขานุการกรมควบคุมมลพิษ ลัคนา จุลแสง หัวหน้าฝ่ายกองการเจ้าหน้าที่ และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (มีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นสิงห์ดำ จบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคน) กล่าวว่า ได้รับข้อมูลจากเลขานุการกรมควบคุมมลพิษว่า บุคลากรอ้วนลงพุง เดินตุ๊ต๊ะ มีไขมันอยู่ในตัวเยอะอันเนื่องมาจากความเครียดสูง ทั้งปัญหาในครอบครัว เศรษฐกิจ ส่งผลถึงการทำงาน จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโรงอาหารให้มีการนำอาหารสุขภาพมังสวิรัติ ปรับให้เป็นโรงอาหารกรีนเพื่อส่งเสริมการบริโภคผักปลอดสารพิษ สำรวจไม่ให้ใช้น้ำมันซ้ำ เปลี่ยนอาหารว่างในห้องประชุมเป็นเมนูสุขภาพ "ทุกคนถือคติว่าเราทุกคนล้วนเจอกันที่เชิงตะกอน ไม่มีใครหนีพ้น เป็นเรื่องของปุถุชน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราเลือกอยู่อย่างมีความสุขได้ ส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน บางคนออกไปเต้นแอโรบิกแดนซ์ ออกกำลังกายปั่นจักรยาน แต่ก็ต้องทำงานให้เต็มประสิทธิภาพด้วย เป็นต้นแบบไม่ใช้ลิฟต์ ให้เดินขึ้นบันได ผมกำลังชั่งใจว่าจะขี่จักรยานมาทำงานเป็นตัวอย่าง ขณะนี้รัฐมนตรีได้มอบหมายให้จัดทำศูนย์ข้อมูลและปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้มีการแข่งขันกันทำงานในระดับสำนัก ทุกคนจะต้องมีสุขภาวะที่ดี"


 MOUกรมควบคุมมลพิษ-ปรับโรงอาหารกรีน thaihealth


จากการสำรวจคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากรกรมควบคุมมลพิษในปี 2559 จำนวน 105 คน พบว่า มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs โดย 1 ใน 3 มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ชอบรับประทานอาหารไขมันสูงบ่อยครั้งหรือเป็นประจำถึง 65% และไม่เคยออกกำลังกายหรือออกกำลังกายเป็นบางครั้งถึง 71% จำนวนมากกว่า 1 ใน 4 มีความเครียดจากการทำงานบ่อยครั้งหรือเป็นประจำ มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ต้องทำงานเฉลี่ยเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หรือทำงานเกินเวลาปกติบ่อยครั้ง ยังพบปัญหาทางการเงิน มีภาระหนี้สินสูงถึง 71% ทำให้เงินเดือนและค่าตอบแทนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการออมอย่างเป็นระบบ


นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวในเวทีเสวนา องค์กรสร้างสุข Thailand 4.0 ว่า กระทรวงเมติซึ่งเป็นกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของคนญี่ปุ่นประกาศอยากทำ 2 เรื่องในองค์กร คือ สุขภาพและผลผลิต สุขภาพดีส่งผลต่อการทำงานดีขึ้น ญี่ปุ่นมีการทำงานเป็นทีม องค์กรต้องดูแลคนในองค์กรให้พร้อมทำงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ใช้การวัดรอบเอวเป็นตัววัด ถ้าแอร์โฮสเตสอ้วนขึ้นจะเดินผ่านช่องว่างของที่นั่งบนเครื่องบินไม่ได้ จะส่งผลต่อการบริหารงานบนเครื่องบิน


 MOUกรมควบคุมมลพิษ-ปรับโรงอาหารกรีน thaihealth


มนุษย์ออฟฟิศควรออกกำลังกายให้มากขึ้นเพื่อปลดปล่อย เป็นการคลายความเครียด ขณะเดียวกันก็ต้องปรับพฤติกรรมการกิน โรงอาหารในประเทศญี่ปุ่นมีเพียง 5 เมนู อาหารหลัก ผักผลไม้ ของหวาน เลือกแคลอรีเท่ากัน รสชาติไม่เหมือนกัน อยู่ภายใต้แนวคิดการทำงานในออฟฟิศ คนไทยมีอาหารให้กินมากมายหลากหลายเป็นร้อยชนิด ทั้งอาหารคาวหวาน แต่คนไทยขาดความรู้ทางสุขภาพเรื่องแคลอรีในอาหาร เมื่อรับประทานแล้ว สสส.ก็ต้องมีการรณรงค์ให้พนักงานพร้อมใจกันขึ้นบันได 5 ชั้นหลังอาหาร แต่ต้องเป็นบันไดที่ไม่ชันจนเกินไป มีเสียงดนตรีเป็นจังหวะระหว่างขึ้นบันได มนุษย์ส่วนใหญ่มีชีวิตเนือยนิ่งเหมือนตัวรีเมอร์ หมีโคอาลา ความสุขอยู่กับเก้าอี้ ที่นอน รู้สึกสบาย ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการกระตุ้นให้ลุกขึ้นมาเดิน วิ่งและออกกำลังกายให้มากขึ้น


สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือคนในโลกนี้จำนวนกว่า 600 คนป่วยด้วยโรคเบาหวาน คน 7,000 ล้านคนทั้งโลกเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพแต่อย่างใด ดังนั้นข้าราชการจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความเครียดในการทำงาน


 MOUกรมควบคุมมลพิษ-ปรับโรงอาหารกรีน thaihealth


"ลิฟต์ที่สำนักงาน สสส.จะมีโลโก้เขียนไว้ว่าใช้ได้เฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ ทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ที่มาติดต่อได้ เลือกที่จะขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ มีวันหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ และเสด็จฯ เข้าไปในลิฟต์ ปรากฏว่าเราลืมไม่ได้เอาโลโก้ออก พระองค์รับสั่งว่า "ฉันจะไปได้ไหม?" นพ.ชาญวิทย์ ถ่ายทอดบรรยากาศครั้งสำคัญให้รับฟัง


การเข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจยุค 4.0 ทรัพยากรมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ภาครัฐถือเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีอัตรากำลังคนในปี 2560 อยู่ถึง 2.84 ล้านคน หากคนในหน่วยงานภาครัฐมีความสุขในการทำงานก็จะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดรายจ่ายทางสุขภาพ หากดูจากผลการวิจัยคุณภาพชีวิตคนทำงานภาครัฐ โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 3,342 ตัวอย่าง เปรียบเทียบปี 2559 กับ 2553 พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีระดับความสุขโดยรวมเพิ่มขึ้น ปี 2559 มีค่าเฉลี่ยความสุข 3.8 เทียบกับ 3.3 ในปี 2553 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง เจ้าหน้าที่รัฐมีภาวะน้ำหนักเกิน 53% ในปี 2559 เทียบกับ 50% ในปี 2553 ความเครียดจากการทำงานพบว่าปี 2559 กับ 2553 มีความเครียดระดับมากถึงมากที่สุด 22% เท่ากัน เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานเกินเวลาราชการปกติ 97% ในปี 2559 เทียบกับ 83% ในปี 2553


เรื่องความผูกพันขององค์กรในปี 2559 พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐ 45% ตัดสินใจไม่ย้ายงานหากมีองค์กรและตำแหน่งที่ดีเท่ากันมาเสนอ ขณะที่ 38% ไม่แน่ใจ และ 18% พร้อมย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ในมุมมองของการทำงานพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่พึงพอใจกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เหมาะกับความรู้ความสามารถในระดับที่มาก มีความชัดเจนในเส้นทางความก้าวหน้าในงานที่มากขึ้น แต่สิ่งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือ การมีภาระหนี้สินสูงถึง 91% เทียบกับปี 2553 จำนวน 79% ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเป็นหนี้สินที่มาจากการผ่อนชำระสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาทถึง 41%


 MOUกรมควบคุมมลพิษ-ปรับโรงอาหารกรีน thaihealth


ดังนั้น บันไดสู่องค์กรแห่งความสุขของคนทำงานจึงประกอบด้วย การมีสุขภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ผ่อนคลาย บริหารการเงินเป็น ครอบครัวมีความสุข สสส.จึงร่วมสนับสนุนองค์ความรู้และระบบการจัดการสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข โดยมีโปรแกรมวัดสุขภาพชีวิตและความสุขของคนทำงาน ปัจจุบันมีเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตองค์กรภาครัฐจำนวน 66 องค์กร สิ่งสำคัญในการทำงานคือ การสร้างแกนนำนักสร้างสุของค์กร เพื่อเป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในองค์กรที่เกิดความยั่งยืนและตอบโจทย์ในแต่ละบริบทขององค์กร


ลัคนา จุลแสง หัวหน้าฝ่ายกองการเจ้าหน้าที่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้าราชการที่กรมควบคุมมลพิษจำนวน 298 คน พนักงาน 201 คน ลูกจ้างประจำ 50 คน และลูกจ้างชั่วคราว ทั้งนี้ระดับการศึกษาปริญญาโท-เอก ข้าราชการกลุ่มใหญ่ที่สุดอายุ 35-45 ปี อายุเฉลี่ย 40 ปี เปอร์เซ็นต์การมีไขมัน หญิงเริ่มมีภาวะอ้วน 128 คน คิดเป็นร้อยละ 31.84 ชายมีภาวะอ้วน 104 คน คิดเป็นร้อยละ 25.87 รวมหญิงชายคิดเป็นโรคอ้วนร้อยละ 57.71 (ดูตารางเปอร์เซ็นต์ไขมัน) ทั้งนี้อาคารกรมควบคุมมลพิษมีทั้งหมด 20 ชั้น มีลิฟต์สองฝั่ง ฝั่งละ 5 ตัว บันไดแต่ละช่วงมีทั้งหมด 11 ขั้น พร้อมเขียนข้อความ 6 กิโลแคลอรี ถึงนี่แล้วเหนื่อยจิ๊บๆ


 MOUกรมควบคุมมลพิษ-ปรับโรงอาหารกรีน thaihealth


สุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 กล่าวว่า อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นคนหนุ่มที่ใช้หลักนักบริหารมองการพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ตระเตรียมไว้ก่อนจะต้องเสียใจในภายหลัง การทำงานเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ข้าราชการ ขณะนี้มี 15 หน่วยงานของบประมาณจาก สสส.เพื่อสร้างองค์ความรู้ สร้างคุณภาพชีวิตให้ข้าราชการ


อนึ่ง ที่กรมควบคุมมลพิษมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือคือ พระพุทธสยัมภู จัดสร้างโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานบริเวณทางเข้าอาคารของกระทรวง บริเวณด้านล่างประดับด้วยตุ๊กตาเด็กหญิง เด็กชาย แกะสีขาว เป็ดและไก่รายรอบ ส่วนบนชั้น 6 ที่ห้องพระ มีข้อความขอเชิญร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเป็นสิริมงคล พระพุทธชินราช พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ศาสดาแห่งพระพุทธศาสนาขนาดเล็กที่สุดประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด

Shares:
QR Code :
QR Code