Less Spoon ช้อน..ปรุง..ลด สุขภาพดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การสื่อสารที่อยากให้พิชิตใจถึงตรงกลุ่มเป้าหมาย บางครั้งก็อาจไม่ต้องคิดเติมไอเดียอะไรยุ่งยาก แต่กลายเป็นเรื่องธรรมดา สื่อสารออกมาให้เข้าใจง่ายๆ อาจด้วยภาพ และยิ่งถ้าทำให้เกิดความประทับใจและเป็นภาพจำ ก็สามารถนำคอนเซ็ปต์เหล่านี้ไปใช้ต่อยอดได้
นี่คือสิ่งธรรมดาที่ทำให้พิเศษ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และสร้างอิมแพคโดนใจผู้บริโภคได้ไปพร้อมกันด้วย
"แคมเปญ Less Spoon : ช้อน ปรุง ลด" ที่ CJ WORX ได้รับโจทย์งานดีๆ สร้างสรรค์สังคมจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภคลดการทานปริมาณโซเดียม เพราะเป็นที่มาของโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้ง โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยป่วยโรค ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการติดเค็มกว่า 20 ล้านคน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมการติดเค็มเหล่านี้กว่า 98,976 ล้านบาท/ปี
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่สร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภคคือ องค์การอนามัยโลกห้ามทานโซเดียมเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือมื้อละ 600 มิลลิกรัม ซึ่งถ้าเกลือไม่ควรเกิน 1/3 ช้อนชา/มื้อ น้ำปลา 2/3 ช้อนชาต่อมื้อ ซึ่งก็ถือว่าทำให้ผู้บริโภคไม่เข้าใจและไม่เห็นภาพว่า แค่ไหนถึงเป็นปริมาณที่พอเหมาะ
ดังนั้นโจทย์ของการคิดสร้างสรรค์ในงานนี้จึงริเริ่มขึ้น…เน้นการสื่อสารแบบง่ายๆ เข้าใจได้ เห็นเป็นภาพมากกว่าข้อมูลตัวเลข
เพราะงานแคมเปญส่วนใหญ่เป็นเรื่องการมุ่งไปที่ตัวของโซเดียม อาทิ การทำเกลือมีสีเพื่อบอกปริมาณในการปรุงเข้าไป แต่เมื่อเทียบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยที่ชอบปรุงรส ซึ่งอาหารสำเร็จรูปส่วนใหญ่ไม่ทราบได้เลยว่า พ่อครัวแม่ครัวปรุงโซเดียมกันมาเท่าไหร่แล้ว และเราก็ยังติดนิสัยการปรุงเติมเข้าไปอีก
ดังนั้นทางทีม CJ WORX จึงจำเป็นต้องสื่อสารจากเรื่องธรรมดา ให้เข้าใจง่าย ด้วยการทำเป็นช้อนที่มีรูตรงกลาง แต่จะตักได้แค่เฉพาะปลายช้อน ซึ่งตรงตามปริมาณที่ควรบริโภคต่อมื้อ ถ้าตักเกินปริมาณเกลือหรือน้ำปลาก็หล่นไปในรู ไม่สามารถตักได้เกินปริมาณที่ควรทาน จึงสมกับเป็น "ช้อนปรุง(เพื่อ)ลดการบริโภคโซเดียม" ตามวัตถุประสงค์ที่อยากสื่อสาร
ช้อนปรุงลด หรือ Less Spoon ที่มีเลเซอร์สลักคำว่า Less Salt สำหรับช้อนปรุงลดเกลือ และ Less Sauce สำหรับช้อนปรุงลดน้ำปลา จึงกลายเป็นงานธรรมดาที่ใช้ครีเอทีฟไอเดียให้น่าสนใจ และกลายเป็นงานพิเศษที่สื่อสารให้โดนใจผู้บริโภคได้ ไม่ใช่เพียงแต่ช้อนปรุงลดสำหรับโซเดียมเท่านั้น แต่จุดมุ่งหวังจึงอยากให้กลายเป็นภาพจำที่ไม่จำเป็นต้องมีช้อนเท่านั้นถึงอยากลดการทานโซเดียมก็ปรุงในปริมาณนี้เช่นกัน หรือต่อยอดไปยังการลดปริมาณน้ำตาลได้ด้วยเช่นกัน