Happy Work Happy Life มนุษย์เงินเดือนสุขภาพดี เริ่มต้นที่องค์กร
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานประกาศรางวัลองค์กรสุขภาวะดีเด่น เพื่อการส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะทั้ง 4 มิติ
ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
HAPPY WORK, HAPPY LIFE มีความหมายถึงการทำงานที่มีความสุข นำไปสู่ชีวิตที่สมดุลและยั่งยืน แม้เป็นคำที่หลายคนเข้าใจ แต่สภาพเศรษฐกิจ สังคมปัจจุบันจะพบว่า มีสิ่งที่สับสนวุ่นวายเกิดขึ้นกับชีวิตของเราในการอยู่ร่วมกัน ล้วนทำให้ตัวเราขาดความสุข มีความเครียด เราจะคิดอย่างไรที่จะทำให้ตัวเราไม่ทุกข์มากขึ้นไปกว่านี้หรือให้ทุกข์ลดน้อยลง…
ยิ่งในยุคที่โลกของการทำงานเต็มไปด้วยการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “ความสุขในการทำงาน” กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเรา
“Happy Work, Happy Life” ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู แต่คือ แนวคิดที่พิสูจน์แล้วว่า เมื่อเรามีความสุขในการทำงาน ชีวิตของเราก็จะสมดุล และมีความสุขมากขึ้น แต่คำถาม คือ… เราจะสร้างความสุขในการทำงานได้อย่างไร? องค์กรควรทำอย่างไรให้พนักงานมีความสุข?
เก็บตกจากงานที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังสมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กรประกาศรางวัลองค์กรสุขภาวะดีเด่น เพื่อการส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะทั้ง 4 มิติ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2568 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ระบุข้อมูลจากรายงานสถิติจากกรมสุขภาพจิต ระบุสถิติ มีคนทำงานอายุระหว่าง 20-59 ปี ใช้บริการเรื่องความเครียด ความกังวลในการทำงาน เป็นอันดับ 1 รวมแล้ว 6,337 สาย จากทั้งหมด 8,528 สาย
“สสส. สานพลังภาคี พัฒนาสุขภาวะองค์กรด้วยแนวคิด Happy Workplace และ Happy 8 ที่ช่วยสร้างสุขภาวะให้คนทำงานได้ทั้ง 4 มิติ ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม พร้อมหนุนเสริมองค์ความรู้และนวัตกรรมสร้างองค์กรแห่งความสุข สู่การสร้างองค์กรสุขภาวะต้นแบบถึง 50 องค์กร โดยที่มีบุคลากรมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น 13% และ มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นถึง 19% ได้รับประโยชน์จากองค์กรสุขภาวะถึง 42,992 คน
อีกทั้งยังสร้างกิจกรรมลดเสี่ยง NCDs เช่น ออกกำลังกาย ทำอาหารสุขภาพ ลดบุหรี่และแอลกอฮอล์ ได้ถึง 150 กิจกรรม และสามารถสร้างเครือข่ายนักสร้างสุขภาวะได้ถึง 160 คนอีกด้วย” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ซึ่งการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มีอยู่ด้วยกัน 4 ด้าน ไม่ใช่เพียงสุขภาพกาย หรือจิตใจที่เรารู้จักกันดีเท่านั้น เพราะ หากขาดด้านสําคัญที่เหลืออีก 2 ด้าน มนุษย์ทุกคนคงจะไม่มีความสุขเป็นแน่แท้
สอดรับการสร้างสุขภาวะองค์กร ผ่านประเด็นสุขภาวะ 4 มิติ โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “การที่คนจะมีสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติได้ การดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ถือเป็นส่วนสำคัญ รวมถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ภายในองค์กรและการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาด้วย และสิ่งที่สำคัญ คือ โครงสร้างขององค์กร ทั้งกฎระเบียบของบริษัทและสวัสดิการสนับสนุน สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้องค์กรสามารถผลิตคนมีคุณภาพได้
“ปัจจุบันการทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ มีความท้าทาย ทั่วทั้งประเทศไทยมีสถานประกอบการณ์กว่า 4 แสนแห่ง สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการทำนโยบาย ให้ความรู้และให้คำแนะนำในชุดข้อมูลที่ชัดเจนจึงจะทำให้แนวคิดองค์กรสุขภาวะสามารถขยายผลให้ครอบคลุมแต่ละสถานประกอบการได้มากขึ้น “ ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว”
ด้าน นายไซม่อน เดนี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาร์มเลส ฮาร์เวสท์ (ไทยแลนด์) จํากัด ในฐานะองค์กรสุขภาวะต้นแบบได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จว่า “ด้วยความที่เป็นบริษัทเอกชน การแข่งขันทางธุรกิจจึงสูงมาก ทางบริษัทจึงเริ่มสร้างสุขภาวะในองค์กร โดยเริ่มจากทรัพยากรที่สำคัญที่สุดเลย คือ “ผู้คน” ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
ดังนั้น บริษัทจึงลงทุนในพนักงานของตัวเอง ด้วยการใส่ใจสุขภาพของพนักงานให้มากขึ้นเปิดโอกาสให้พนักงานได้ฝึกฝน พัฒนาและสร้างความรู้สึกให้ตัวพนักงานได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมและมีส่วนร่วมในพันธกิจและวิสัยทัศน์ของบริษัทได้อีกด้วย”
“นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำชุดความรู้เกี่ยวกับแนวคิด Happy Workplace มาใช้ในการสร้างสุขภาวะองค์กร ทั้งการอบรมความรู้เกี่ยวกับโรค NCDs, จัดตั้งโครงการกินดื่มอาหารเพื่อสุขภาพ ให้พนักงานใส่ใจเลือกกินอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ,ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยจัดตั้งชมรมกีฬาและจัดแข่งขันกีฬา กระตุ้นให้พนักงานร่วมกันออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิกแอลกอฮอล์ เพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่และแอลกอฮอล์ ส่งผลให้มีพนักงานหลายคนเลิกดื่มสุราได้สำเร็จ” นายไซม่อน กล่าว
กุญแจความสำเร็จของการสร้างสุขภาวะดี ควบคู่กับเศรษฐกิจที่เติบโต ขึ้นอยู่กับสุขภาวะองค์กร สสส. มุ่งส่งเสริมให้ทุกองค์กรและสถานประกอบการได้มีความเข้าใจด้านการสร้างสุขภาวะที่ดี พร้อมยกระดับสู่องค์กรสุขภาวะ เพื่อเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
สสส.มุ่งมั่นเดินหน้าสร้าง “Happy Workplace” องค์กรแห่งความสุข ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นการสร้าง สภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมสุขภาวะของบุคลากรในองค์กร ทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม เพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขพร้อมเติบโตไปพร้อมกับองค์กร