“Hackathon” พัฒนาแอพฯ แก้ปัญหาสุขภาพคนไทย
สสส. จับมือ “กูเกิ้ลไทย – ซัมซุง” จัดกิจกรรม “Hackathon” ประกวด “Health App Challenge” พัฒนา 4 โจทย์ใหญ่สร้างเสริมสุขภาพ หวังใช้โอกาสพัฒนาแอพพลิเคชั่น ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพคนไทย
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สถาบันChange Fusion, Google Thailand และบริษัท ซัมซุง (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรม “Hackathon”ภายใต้โครงการประกวดการแข่งขันพัฒนาแอพพลิเคชั่น ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (Health App Challenge : Hac) เพื่อส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสร้างเสริมสุขภาพ และสนับสนุนองค์ความรู้และพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพสำหรับประชาชน
โดยเปิดรับสมัครเด็กและเยาวชน ทีมละ 3-5 คน ส่งผลงานการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เข้าแข่งขันตามโจทย์ที่กำหนด 4 เรื่อง คือ 1.สุขบัญญัติแห่งชาติและเครื่องมือการตรวจสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวชน 2.การลด ละ เลิก การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ 3.การออกกำลังกายและอาหารสร้างเสริมสุขภาพ และ 4.การใช้เงินอย่างมีวินัย ทั้งนี้ สามารถส่งผลงานเข้าประกวดจนถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ได้ที่http://hac.in.th/ หรือติดต่อสอบถามได้ที่[email protected]
“กิจกรรม “Hackathon” จะจัดขึ้น 2 ครั้ง คือ ที่ สสส. กรุงเทพฯ และที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคมนี้ โดยการตัดสินจะใช้วิธีการโหวตจากคณะกรรมการ และผู้เข้ารวมชมการประกวด ซึ่งจะมีการประกาศผลผู้ชนะการแข่งขันในเดือนมกราคม ปี 57 โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ ทั้งด้านเทคโนโลยี การออกแบบ องค์ความรู้ทางสุขภาพ และการตลาด จากวิทยากรและตัวแทนจากกูเกิ้ล ซัมซุง ฯลฯ เพื่อต่อยอดการทำงาน รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านทาง App Store ต่อไป” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
ปัจจุบัน ระบบไอซีทีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมของคนไทย เพราะขณะนี้มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลกถึง 20 ล้านคน จึงจำเป็นต้องสร้างโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้และส่งเสริมเทคโนโลยี เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยขึ้น ซึ่งโครงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ 4 ด้านคือ 1.เปิดโอกาสให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ได้นำเสนอไอเดียที่มีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพ 2.นักพัฒนาได้รับความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การออกแบบ และการทำธุรกิจ 3.เกิดแอพพลิเคชั่นสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบ อย่างน้อย 6 ชิ้น สามารถนำไปรณรงค์ให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง และ 4.เกิดเครือข่ายความร่วมมือจัดกิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีส่งเสริมสุขภาวะจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข