HAC2 แอพพลิเคชั่นสร้างสุขภาวะคนไทย
ผลสำรวจจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2557 พบประชากรไทยประมาณ 48 ล้านคน ที่ใช้สมาร์ทโฟนและสามารถเข้าถึงอินเทอร์เนตได้ แต่การเข้าใช้แอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพยังคงไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร นั่นแสดงว่า ประชากรไทยที่ ใช้สมาร์ทโฟนยังใช้ สมาร์ทโฟนได้ไม่คุ้มค่ากับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟน
ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับ บริษัท Google Thailand สถาบัน ChangeFusion Google Developer Group (GDG) และ Ma:D co-working space จัดงาน "ประกาศผลรางวัลผู้ชนะโครงการประกวดพัฒนา แอพพลิเคชั่นสร้างเสริมสุขภาพ (Health App Challenge : HAC) ปี 2" เพื่อสนับสนุนคนไทยให้เข้าถึงแอพพลิเคชั่น ด้านสุขภาวะมากขึ้น
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวถึง การจัดแข่งขันประกวดแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาวะที่จะช่วย เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประชาชน ว่า ทุกวันนี้เราทุกคนใช้มือถือ อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้มือถือหันมาใช้แอพพลิเคชั่นสุขภาวะ เพื่อออกแบบชีวิตของตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นตาม ความสนใจ ฉะนั้นจึงต้องมีตัวเลือกของแอพพลิเคชั่นด้าน สุขภาวะที่หลากหลายขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือวางแผนการใช้ชีวิต แล้วนำมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของตัวเอง
"สสส. ถือว่าเป็นองค์กรหลักที่สนับสนุนเนื้อหาทางด้านสุขภาวะที่ถูกต้องให้กับผู้เข้าประกวดทุกทีม โดยร่วมมือกับบริษัท Google Thailand และสถาบัน Change Fusion และภาคีร่วมอื่นๆ โดยเป็นที่ปรึกษา ให้ทุกทีมออกแบบแอพพลิเคชั่นที่สามารถต่อยอดใน เชิงธุรกิจได้ โดยคิดเรื่องการใช้งานให้ครอบคลุม วิเคราะห์ จุดแข็งจุดอ่อน พัฒนาสู่การใช้งานได้จริงบนร้านค้าออนไลน์"
ด้า น.ส.พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท Google ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า Google Developer Group ร่วมกับ สสส. ในการเป็นที่ปรึกษาและพัฒนานักพัฒนาโปรแกรมหน้าใหม่ ในการแข่งขันประกวดแอพพลิเคชั่น ที่จะต้องใช้งานได้จริง น่าเชื่อถือ และสามารถ ขยายผลในวงกว้างเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ถูกสุขภาวะได้ โดยในปีนี้ เป็นครั้งที่ 2 ที่มีการจัดการประกวดขึ้น และอ้างอิงรูปแบบการจัดประกวดมาจาก HAC : Hackathon ของ Google ต่างประเทศ มาปรับรูปแบบในการแข่งขัน ให้เหมาะกับคนไทย
สำหรับผลการประกวด HAC ปี2 ที่มีผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 10 ทีม ได้นำเสนอแอพพลิเคชั่นต่อหน้า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสส. และภาคีเครือข่าย โดย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Bike Route ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อม Google Cloud รองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม Fruit Eater ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อม Google Cloud และ รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม BLOODD ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อม Google Cloud นอกจากนี้ ทุกทีมที่เข้าร่วมการประกวด จะได้รับเงินทุนสนับสนุนทีมละ 10,000 บาทด้วย
วีรจิต แรกตั้ง ตัวแทนทีม Bike Route ที่คว้ารางวัลชนะเลิศเล่าด้วยความดีใจว่า "เพื่อนๆ ในทีม ทุ่มเทในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมาก ยึดหลักการใช้งานง่าย และสะดวก ซึ่งระหว่างการประกวดทาง สสส. ก็ได้ให้ข้อมูลที่ เป็นประโยชน์ เช่น เส้นทางการปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกับปัน ปั่น ของ กทม. ที่ให้ข้อมูลเรื่องจุดจอดและยืมจักรยาน ซึ่งหลังจากนี้จะร่วมมือกับทาง ททท. เพื่อขยายเส้นทางการปั่นจักรยานไปให้ทั่วประเทศไทย"
สำหรับ ธีรวัฒน์ มธุรส ตัวแทนทีม Fruit Eater ที่ได้รับรางวัลรองวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 เล่าถึงแรงบันดาลใน ในการสร้างแอพพลิเคชั่นที่ชักชวนให้เด็กๆ กินผักว่า "อยากเห็นเด็กไทยมีสุขภาพดี จึงให้เกมนี้เป็นต้นแบบในการให้เด็กๆ กินผักผลไม้ ผ่านตัวละครสัตว์ประหลาดที่รักการกินผลไม้ เมื่อกินแล้วความสามารถต่างๆ จะมากขึ้น และเพิ่มทักษะแปลงร่างได้ ในเกมส์จะมีศัตรูอาหารที่ไม่มีประโยชน์ กับร่างกาย เช่น น้ำอัดลม ลูกอม ฯลฯ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ และแยกแยะอาหารที่มีประโยชน์กับไม่มีประโยชน์ได้"
ด้าน ธัญธร ตันสกุล ตัวแทนทีม Bloodd ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ที่ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นการ บริจาคเลือดจากบนเว็บมาใช้ในมือถือว่า "เคยเข้าแข่งขันทำเว็บ ด้านการบริจาคเลือดมาก่อน จึงมาต่อยอดเป็นแอพพลิเคชั่น บนมือถือ Bloodd จะเป็นคลังข้อมูลของคนบริจาคเลือด เมื่อทุกคนไปบริจาคเลือดจะนึกถึงแอพพลิเคชั่นของเรา ในอนาคตตั้งใจว่าจะเป็นศูนย์กลางการแชร์ข้อมูลให้ทาง โรงพยาบาล หรือสภากาชาด"
จากผลการจัดประกวดในครั้งนี้ ทำให้แน่ใจว่า เทคโนโลยีสามารถออกแบบชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยการเลือกใช้ แอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมกับสภาวะของคนแต่ละคน
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า