GEOต้าน ขึ้นทะเบียน “สะเดา-ขิง-ข่า-พริก” เป็นวัตถุอันตราย

ส่อมีบางอย่างเคลือบแฝง

GEOต้าน ขึ้นทะเบียน “สะเดา-ขิง-ข่า-พริก” เป็นวัตถุอันตราย 

 

 

เอ็นจีโอสมุนไพรเตรียมแถลงข่าวคัดค้านขึ้นทะเบียน 13 พืชสมุนไพร เป็น “วัตถุอันตราย” กังขาหวังกีดกันทางการค้า ส่งเสริมสารเคมีมาใช้ในงานเกษตร จี้เร่งชี้แจงให้ชัดก่อนปชช.ตื่น แนะถ้าให้ดียกเลิกไปเลย

 

ภายหลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ได้แก่ 1.สะเดา 2. ตะไคร้หอม 3.ขมิ้นชัน 4.ขิง 5.ข่า 6.ดาวเรือง 7.สาบเสือ8.กากเมล็ดชา 9.พริก 10.คื่นฉ่าย 11.ชุมเห็ดเทศ 12.ดองดึง และ13.หนอนตายหยาก  เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข.  ทำให้เกิดกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเครือข่ายเอ็นจีโอ โดยตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการกีดกันพืชสมุนไพรไทย และจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีในอาหารมากขึ้น

 

 

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถึงเรื่องเดียวกันนี้ ว่า เจตนาของการขึ้นทะเบียนสามารถดูได้หลายมุมมอง หากมองในแง่ดีก็อาจเพื่อต้องการควบคุมพืชที่มาสกัดเหล่านี้ให้มีคุณภาพดี ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค แต่หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็อาจจะเพื่อต้องการกีดกันการใช้สมุนไพรมาสกัดเป็นสารกำจัดวัชพืช โดยปล่อยให้มีการใช้สารเคมีทั่วไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการผลักดันของผู้เสียผลประโยชน์บางส่วนแอบแฝงหรือไม่ เช่น พวกกลุ่มบริษัทยาฆ่าแมลงต่างๆ

 

 

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า อีกทั้งตัวระเบียบเองก็ยังเขียนไว้อย่างกว้างๆ ไม่ชัดเจน ไม่ได้เจาะจงว่าใช้เฉพาะสกัดมาทำวัชพืช หรือใช้ในการรับประทาน ในส่วนของกระบวนการนั้นก็ไม่มีการปรึกษาหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มผู้ใช้พืชสมุนไพร

 

 

“ทางเครือข่ายของเราจึงเกิดความสงสัยในเจตนาการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ว่ามีวัตถุประสงค์อื่นใดแฝงอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นการกีดกันการใช้สมุนไพรอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระเบียบที่กว้างครอบคลุมเกินไป หรือกระบวนการการขึ้นทะเบียนที่ไม่รอบคอบทำให้เครือข่ายเกินข้อกังขา” นายวิฑูรย์ กล่าว

 

 

ด้านนายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ  ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวเรื่องเดียวกันนี้ ว่า  รู้สึกแปลกใจกับประกาศดังกล่าวมาก จริงๆ ไม่ควรที่จะมีออกมาด้วยซ้ำ เป็นเรื่องตลก และคิดว่าน่าจะมีวาระซ่อนเร้น ถึงความไม่ชอบมาพากล  และไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คนในกรมวิชาการเกษตรกำลังรับใช้ใครอยู่หรือเปล่า ตนก็ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม ก่อนการแถลงข่าวในวันที่ 11ก.พ. เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เครือข่ายด้านการเกษตร และเครือข่ายฐานทรัพยากรอาหาร ก็จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาประมวลสถานการณ์ ความรู้ความเข้าใจ และองค์ประกอบต่างๆ มาหารือกันก่อนที่จำนำเสนอ ตั้งข้อสังเกตผ่านสื่อมวลชนต่อไป

 

 

ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวต่อว่า ประกาศดังกล่าว สร้างความตกใจ หวาดวิตก ต่อสังคมมาก โดยส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร และผู้บริโภค การที่ออกมาบอกเช่นนี้ น่าจะมีการชี้แจงให้ชัดเจนว่า ในพืชแต่ละชนิดที่ระบุไปนั้น  มีสารประกอบตัวไหนเป็นสารอันตราย ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ยึดหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีเกษตรแบบพึ่งตนเองมาใช้ในการเพาะปลูก พืชต่างๆ เหล่านี้ มีส่วนไปควบคุมแมลง และกำจัดศัตรูพืชซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อคนต่อพืชด้วยซ้ำ จึงคิดว่าควรยกเลิกประกาศไปเลย

 

 

ขณะที่ น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจัดแถลงข่าวคัดค้านการขึ้นทะเบียนพืช 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย ลงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ความเห็นว่า ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเป็นวัตุอันตราย ซึ่งประกอบด้วย 1. สะเดา 2. ตะไคร้หอม 3.ขมิ้นชัน 4.ขิง 5.ข่า 6.ดาวเรือง 7.สาบเสือ8.กากเมล็ดชา 9.พริก 10.คื่นฉ่าย 11.ชุมเห็ดเทศ 12.ดองดึง และ13.หนอนตายหยาก  เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข. 

 

 

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการจัดประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 เพื่อเสนอให้ขึ้นทะเบียนพืชทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย และในวันที่ 3 กุมภาพันธุ์ มีการขึ้นทะเบียน ซึ่งการขึ้นทะเบียนพืชทั้ง 13 ชนิดนี้ทำให้เกิดความสับสนกับทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรที่นำพืชบางตัวมาใช้ในการกำจัดศัตรูพืช ยังมีบางชนิดที่นำมาทำสมุนไพร  การประกาศเช่นนี้ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าพืชเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้ได้อีกหรือไม่ 

 

 

ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวอีกว่า  การประกาศเช่นนี้จะกระทบกับประชาชนโดยตรง ต่อไปจะมีการเข้ามาควบคุมพืชทั้ง 13 ชนิด ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และทำลายระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ดังนั้นคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องออกมีชี้แจงและระบุว่าสารตัวใดบ้างที่เป็นอันตราย

 

 

ทั้งนี้ เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เครือข่ายด้านการเกษตร และเครือข่ายฐานทรัพยากรอาหารจะมีการแถลงคัดค้านการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทั้ง 13 ชนิด ในวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์   เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) 912 ซ.งามวงศ์วาน 31 ซอยย่อย 7 ถ.งามวงศ์วาน อ.เมือง จ.นนทบุรี

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update:11-02-52

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code