” Family Awards 2009″
รายการโทรทัศน์โปรดเพื่อครอบครัว
เมื่อ ปี พ.ศ. 2550 ภาครัฐ ได้มีการ นำเอาผลงานจากทีวีเข้าที่ประชุม เพื่อ พูดถึงผลได้ผลเสียอันอาจจะเกิดจาก รายการทาง สื่อ ทีวี ที่มีทั้งผลดี และ ผลร้ายต่อสังคม
และ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 ก็มีผลจาก การประชุม ค.ร.ม.ออกมา ให้ มีการดำเนินการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ขึ้น โดยให้ สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่อง ต้อง คำนึงถึง สารประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับการดูทีวี โดยรายการโทรทัศน์ทุกช่องจะต้องส่งเสริมสาระทั้ง 6 ประการ ได้แก่ ส่งเสริมระบบคิด ส่งเสริมสาระทางวิชาการ ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมทักษะชีวิต ส่งเสริมความหลากหลาย และส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว
ส่งผลให้เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังฯ เกิดแรงบันดาลใจที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมสื่อดี ด้วยการจัดมอบรางวัล รายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัว Family Awards 2009 ขึ้น
และการจัดมอบรางวัลดังกล่าว ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่เพิ่งจะผ่านมานี่เอง ในงานนี้ได้รับเกียตริจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวเปิดงานและเป็นประธานในพิธี หลังจากนั้นเข้าสู่ช่วงเวทีเสวนา เรื่อง ” Family Awards การจัดงานที่ท้าทายการมอบรางวัลของมืออาชีพ” ดำเนินการเสวนาโดย นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว / ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ”
นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ได้กล่าวถึงการจัดงานว่า ทางเครือข่ายครอบครัวพยายามที่จะผลักดันให้เกิดสื่อน้ำดี โดยนำข้อมูลที่ได้มีการประเมินรายการโทรทัศน์หลังออกอากาศมาทำเป็นแบบสำรวจโดยผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ตั้งแต่คัดเลือกรายการโดยคณะกรรมการประเมินรายการโทรทัศน์หลังออกอากาศและนักวิชาการต่างๆ จนเหลือรายการที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 5 รายการในแต่ละด้าน และจัดทำแบบสำรวจโดยส่งไปตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศไทยร่วมทำแบบสำรวจจำนวน 3,275 ชุด โดยคณะทำงาน ใส่ใจในทุกขั้นตอนของการสำรวจเนื่องจากต้องการให้คะแนนที่ได้เป็นคะแนนที่มาจากคนดูจริงๆ จึงถือได้ว่าทุกรายการที่ได้รับรางวัลเป็นรายการที่มีคุณค่าและมีคุณภาพ
รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า การจัดระบบเรตติ้งถือว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนเล็กๆที่จะจุดประกายให้คนสามารถเลือกรับสื่อน้ำดีได้ โดยผ่านตัวสัญลักษณ์ที่จัดตั้งขึ้นมา และส่วนสำคัญที่ควรสอนการเลือกรับสื่อคือกลุ่มเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถรับรู้สื่อต่างๆได้ง่าย ควรที่จะปลูกฝังสื่อที่ส่งเสริมด้าน +6 เพื่อให้เด็กมีคุณภาพและเติบโตได้ดีกว่าในปัจจุบันโดยไม่เป็นเพียงเฉพาะผู้เสพสื่อเพียงอย่างเดียว การมอบรางวัลในครั้งนี้ทุกรายการถือว่าเป็นรายการที่ดีและมีเนื้อหาที่เหมาะสมตรงตามด้านประเภทรายการที่ได้รับ ถึงแม้จะมีรายการบางรายการที่จะเป็นเรต น 18+ แต่ก็ถือว่ารายการนั้นเป็นรายการที่ผลิตตรงตามหลักและจัดอยู่ในประเภทที่เหมาะสมแล้ว ดังนั้นควรจะมีการส่งเสริมรายการที่ได้รับรางวัล ให้สามารถอยู่ในจอทีวีนานๆและมีผู้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะ สสส. กล่าวว่า จากการมอบรางวัลให้กับรายการโทรทัศน์ในดวงใจครอบครัวโดยใช้ทฤษฎี +6 เป็นเกณฑ์ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการจัดระบบเรตติ้งที่นักวิชาการทางด้านพัฒนาการเด็กและครอบครัวช่วยกันคิดค้นและจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา ถือว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญก็ว่าได้ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วคนจะให้ความสำคัญกับมิติทางด้าน -3 มากกว่า ถือว่าเห็นมุมมองของการส่งเสริมและมองเห็นถึงเชิงคุณภาพถึงแม้ว่ารายการที่ส่งเสริมด้าน+6 จะยังน้อย แต่เราก็สามารถสนับสนุนและส่งเสริมให้มีรายการส่งเสริม+6 เพิ่มขึ้นได้ แต่รายการที่เหมาะกับมิติทั้ง 6 ด้านก็ไม่ควรลืมที่จะสอดแทรกเนื้อหาที่เหมาะสมของแต่ละประเภทรายการ ถือว่าทุกรายการที่ผ่านเข้ารอบนั้นเป็นรายการที่มีคุณภาพถึงแม้จะเป็นรายการที่มีเรตติ้งเป็น น18 + ขอให้ผู้ผลิตที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ จงภูมิใจเพราะมาจากรางวัลที่มาจากคนดูจริงๆ และเป็นรางวัลที่เน้นมิติของการสร้างสรรค์และการมองไปข้างหน้า ส่งเสริมมิติให้เกิดพัฒนาการของเด็กและครอบครัว ในส่วนที่จะฝากคงอยากเห็นรายการที่ส่งเสริม+6 มีมากขึ้น โดยอาจจะให้ผู้ผลิตเป็นสมาชิกของเครือข่าย และมีเครือข่ายที่จะสนับสนุนรายการดีๆให้มีต่อไป ณ ตอนนี้กำลังจะเกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งปัจจุบันร่างกฏหมายเสร็จสิ้นเรียยร้อยแล้ว หากมีกองทุนสื่อสร้างสรรค์ขึ้นมา ก็จะเห็นรายการที่เป็นสื่อน้ำดีเพิ่มขึ้นในบ้านเราอย่างแน่นอน
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update:11-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่