EF ทางรอดเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21
ในปัจจุบันยังมีคุณพ่อคุณแม่ที่มีความคิดว่า ลูกเก่ง หรือฉลาดจะต้องวัดจากการเรียน หรือผลคะแนนที่สูงกว่าเด็กคนอื่น แต่ความจริงแล้วกลับพบว่าเด็กที่เรียนเก่งหลายคน เติบโตมาแบบไม่สามารถเอาตัวรอดได้ และนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ไม่เต็มที่
แฟ้มภาพ
ฉะนั้น การที่เด็กจะเก่งอย่างเดียวนั้น ไม่ใช่คำตอบของความอยู่รอด เด็กที่จะมีชีวิตประสบความสำเร็จได้นั้น ส่วนหนึ่งจะต้องมี "Executive Functions หรือ EF" ที่ดี เมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และสถาบันอาร์พีจี หรือรักลูกกรุ๊ป จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการหนังสือและการอ่านเครื่องมือพัฒนาสมอง Executive Functions (EF) ในเด็กปฐมวัย "คำตอบการปฏิรูปการศึกษาไทย?"
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. อธิบายถึงการส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF ว่า สสส.ขับเคลื่อนงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยมาโดยตลอด และตระหนักว่าความรู้เรื่อง EF สัมพันธ์อย่างยิ่งกับการอ่าน โดยการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมทักษะสมองเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยการเผยแพร่ความรู้ รณรงค์การพัฒนาหนังสือที่ส่งเสริม EF ร่วมสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะเนื้อหาที่ดีในหนังสือจะมีส่วนบ่มเพาะ ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมทักษะ EF ที่ดีขึ้น จากกรณีศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟังจะไปสร้างวงจรของการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหนังสือเป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุด และลงทุนเพียงแค่ครั้งเดียว แต่สิ่งที่ได้จากการอ่านจะอยู่กับตัวเด็กไปตลอด ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่ศูนย์เด็กเล็ก จ.ระนอง คุณครูได้พบกับปัญหาเด็กเล็กมักทะเลาะกัน เมื่อคุณครูได้อ่านหนังสือ ชุดส่งเสริมพฤติกรรมสร้างสรรค์ "มือไม่ได้มีไว้ตี" ที่สอนว่า การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งไม่ดีให้เด็กฟัง ผลปรากฏว่าหลังจากนั้น 2 อาทิตย์ เด็กสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นมาก
ดังนั้น เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนจึงได้มีการขับเคลื่อนเผยแพร่ความรู้ EF และรณรงค์พัฒนาหนังสือที่ส่งเสริม EF รวมถึงต่อยอดขยายฐานผู้นำความรู้ EF ไปใช้ในการพัฒนาเด็กโดยเฉพาะเด็กปฐมวัยผ่านเครื่องมือหนังสือและการอ่าน เพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ด้าน รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา จากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายว่า Executive Functions หรือ EF ประกอบไปด้วย ทักษะ 9 ด้าน ได้แก่ 1.ความจำที่นำมาใช้งาน (Working memory) 2.การยั้งคิด (Inhibitory Control) 3.การยืดหยุ่นความคิด และคิดนอกกรอบ (Shift หรือ Cognitive Flexibility) 4.การใส่ใจจดจ่อมุ่งมั่น(Focus/Attention) 5.การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)6.การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organizing)7.การรู้จักประเมินตนเอง (Self-Monitoring) รวมถึงการตรวจสอบการงานเพื่อหาจุดบกพร่อง และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร ได้ผลอย่างไร 8.การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) 9.ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย (Goal-Directed Persistence)
รศ.ดร.นวลจันทร์ เล่าเสริมว่า ทักษะเหล่านี้จะช่วยตัดสินใจในการทำหรือไม่ทำพฤติกรรมต่างๆ ที่จะให้ถึงจุดมุ่งหมายที่วางเอาไว้ ซึ่งจะสามารถวางแผน จัดการ จดจ่อ รวมถึงยืนหยัดที่จะทำงานนั้นตั้งแต่ต้นจนจบได้ และยังช่วยในการจัดการอารมณ์ จัดระบบความคิดไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้งานนั้นประสบความสำเร็จอย่างถูกต้อง และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ ทักษะนี้เป็นตัวประคับประคองควบคุม ปรับพฤติกรรมของเรานั่นเอง ซึ่งหากมีการพัฒนาทักษะทั้ง9 ด้านนี้ จะสามารถทำให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิตได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มอีกว่า ช่วงปฐมวัย3-6 ปี สมองจะมีการพัฒนาทักษะ EF ได้ดีที่สุด ทั้งนี้หากเด็กมี EF ที่บกพร่อง เมื่อเติบโตขึ้นจะมีโอกาสติดเกม ติดการพนัน และยาเสพติดได้มาก เพราะเมื่อเกิดความต้องการ เด็กจะเข้าไปหาโดยไม่คิดว่าถ้าทำสิ่งนี้จะเกิดผลอะไรตามมา เด็กจะไม่รู้จักการบริหารจัดการตัวเองอีกทั้งยังส่งผลต่อการเรียนในอนาคตเพราะยิ่งเรียนสูงเท่าไหร่ ต้องใช้ EF มากขึ้นเท่านั้น
รศ.ดร.นวลจันทร์ บอกถึงผลวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมทักษะ EF ในเด็กเล็กว่าสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการอ่านที่บ้าน จะส่งผลให้สมองของเด็กมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วยการให้พ่อแม่อ่านหนังสือหรือนิทานให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอ มีมุมให้เด็กนั่งอ่านหนังสือ และสามารถหยิบจับได้ด้วยตัวเอง เด็กจะมีทักษะเรื่องการอ่าน การเขียน และมีเชาวน์ปัญญาที่ดี โดยวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำว่าพ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่แรกเกิด และเลือกเนื้อหาที่เหมาะกับวัยของเด็ก ไม่ต้องรอจนกระทั่งลูกเข้าโรงเรียน จะทำให้เด็กมีทักษะในเรื่องภาษาและการสื่อสาร สามารถกำกับควบคุมตัวเอง และถ่ายทอดออกมาได้ว่าตนเองคิดและรู้สึกอย่างไร
"นอกจากนี้ การให้ลูกได้เรียนรู้ 2 ภาษา เช่น การพูดคุยกับลูกโดยพ่อพูดภาษาอังกฤษ แม่พูดภาษาไทย เด็กจะมีการหยุดใช้ความคิดเพื่อที่จะสื่อสาร เด็กกลุ่มนี้จะมีทักษะ EF ที่ดี รวมถึงการให้ลูกได้เล่นดนตรีก็เป็นการฝึกสมอง เพราะต้องใช้สติและประสาทสัมผัสหลายอย่าง ทั้งนี้ การจะฝึก EF ให้เด็ก จะต้องดูเป็นรายบุคคล เพราะเด็กมีคุณลักษณะและบุคลิกที่แตกต่างกัน ซึ่งกิจกรรมที่ให้ลูกฝึกจะต้องมีสมาธิที่จดจ่อ มีกระบวนการ และมีความยากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมทักษะ EF ให้เกิดขึ้นได้" รศ.ดร.นวลจันทร์ กล่าวทิ้งท้าย
"เด็ก" ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกับความสามารถที่ซ่อนเร้นสิ่งที่จะทำให้ความสามารถชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ สภาวะแวดล้อมทั้งครอบครัว สถาบันการศึกษา สังคม หากทุกฝ่ายร่วมสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพให้กับเด็ก เชื่อว่าเด็กไทยไม่เพียงสามารถนำพาตนเองประสบความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น แต่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ